Web Analytics
บทความ ผู้สร้างทีมแห่งความฝัน ธวัชชัย สัจจกุล

บทความ เรื่อง "ผู้สร้างทีมแห่งความฝัน" ธวัชชัย สัจจกุล

ในทศวรรษที่ “ทีมชาติ” กำลังเกิดวิกฤติศรัทธา เขาสามารถสร้างสีสันและจุดประกายแห่งความหวัง จนทำให้วงการฟุตบอลเมืองไทยกลับสู่ความนิยมอีกครั้ง ด้วยเอกลักษณ์เชื่อมั่นตนเองและลูกทีม แม้ว่าบางคนจะไม่ค่อยชอบสไตล์การทำงานของ “บิ๊กหอย” แต่แฟนลูกหนังชาวไทยทั่วประเทศ จะกล่าวถึงผู้จัดการทีมประวัติศาสตร์ผู้นี้อยู่เสมอ

ธวัชชัย สัจจกุล เกิดเมื่อวันที่ 9 ... กุมภาพันธ์ 2486 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประวัติการศึกษาจบระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมโยธา (ฟิลิปปินส์) และปริญญาโท การจัดการสถาบันศศินทร์

โดยเริ่มเข้ามามีบทบาทถนนสายลูกหนัง เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2534 ภายหลังจากทีมไทยพลาดเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 16 จนสมาคมฟุตบอลฯ ต้องยกเลิกสัญญากับสตาฟฟ์โค้ชชาวบราซิล แม้ว่าทีมไทยจะครองถ้วยคิงส์คัพ ครั้งที่ 23 พ.ศ. 2535 ทว่าก่อนเปิดสนาม นักเตะดังหลายคนถูกตัดออกจากทีมกล่าวกันว่าเป็นความขัดแย้งภายในสมาคม ฯ กระทั่งทำให้แฟนลูกหนังชาวไทยเสื่อมศรัทธา “ทีมชาติ” มากขึ้น

ในขณะนั้น นายธวัชชัย สัจจกุล สภากรรมการฯ สมัยแรก จึงดำเนินงานสร้างทีมเยาวชน โดยคัดเลือกบรรดานักแตะจากสโมสรต่างๆ เพื่อร่วมเก็บตัว ณ แค้มป์หมู่บ้านเกศินีวิลล์ และมีนายชัชชัย พหลแพทย์ อดีตทีมชาติชุดโอลิมปิกเม็กซิโก (พ.ศ. 2511) ทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนและควบคุมการฝึกซ้อม ซึ่งจะได้รับเงินเดือนประจำทุกคน เพื่อจุดมุ่งหมายสำคัญ คือฟุตบอลโอลิมปิก รอบสุดท้าย

จากการลงสนามระดับชาติเก็บเกี่ยวประสบการณ์หลายรายการ ทีมเยาวชนชุดนี้สามารถคว้าอันดับ 3 ในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์แห่งเอเชีย (พ.ศ. 2535) จนได้ชื่อว่าเป็น “ดรีมทีม” ของวงการลูกหนังบ้านเรา

เดือนมิถุนายน 2536 สมาคมฟุตบอลฯ แต่งตั้งให้นายธวัชชัย สัจจกุล เป็นผู้จัดการทีมชุดซีเกมส์ครั้งที่ 17 ณ ประเทศสิงคโปร์ ทีมไทยที่มีผู้เล่นดังหลายคน อาทิ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์, ไพโรจน์ พ่วงจันทร์, นที ทองสุขแก้ว ฯลฯ และมีหน้าแตะหน้าใหม่จาก “ดรีมทีม” ร่วมทีมถึง 7 คน จะสามารถช่วยกัน “ประสานใจ” คว้าเหรียญทองในรอบ 8 ปีมาครองได้อีกครั้ง นับเป็นความสำเร็จรายการแรกของ “บิ๊กหอย” กับทีมชาติไทย แม้ว่าภายหลังทีมไทยชุดปรีโอลิมปิก ต้องล้มเหลวเพราะรอบคัดเลือกต้องพ่ายแพ้ทีมญี่ปุ่น (2-5, 0-1)

อีก 8 เดือนต่อมา กุมภาพันธ์ 2537 จึงรับตำแหน่งประธานจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 25 ด้วยการชนะทีมแค้วนเวสฟาเล่นท์จากประเทศเยอรมัน 4-0 คว้าถ้วยคิงส์คัพเป็นครั้งแรก และเดือนสิงหาคม 2537 จะพาทีมไทยชุดที่มีตัวชุดใหญ่ติดทีมไปด้วย 3 คน คือ นที ทองสุขแก้ว, สุเมธ อัครพงศ์ และสุรชัย จตุรภัทรพงศ์ ชนะเลิศฟุตบอลอินดิเพนเด้นท์คัพ ครั้งที่ 7 ณ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการทีม

แต่เมื่อทีมไทย หรือ “ดรีมทีม” ที่ประสบการณ์ยังไม่เพียงพอ ต้องตกรอบแรกฟุตบอลเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ณ เมืองฮิโรชิมา แล้ว “บิ๊กหอย” จึงเปลี่ยนแปลงผู้เล่นและวิธีการทำทีมครั้งใหญ่ โดยเรียกนักฟุตบอลฝีเท้าดีเข้ามาเสริมทีมชาติ อาทิ เสนาะ โล่งสว่าง, กฤษดา เพี้ยนดิษฐ์, เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์, ภานุวัฒน์ ยินผัน ฯลฯ จนทีมไทยครองเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนธันวาคม 2538 เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

และเดือนกันยายน 2539 “ฟุตบอลอาเซียน ไทเกอร์คัพ ครั้งที่ 1 ณ ประเทศสิงค์โปร์ นายธวัชชัย สัจจกุล ในฐานะผู้ควบคุมทีมต้องรับหน้าที่เป็น “โค้ชจำเป็น” อีกหนึ่งตำแหน่ง เนื่องจากก่อนออกเดินทาง นายอาจหาญ ทรงงามทรัพย์ โค้ชของทีมติดอบรมที่ประเทศเยอรมัน เมื่อทีมไทยชนะมาเลเซีย 1-0 ครองแชมป์เป็นชาติแรกของอาเซียน จนหนังสือพิมพ์ นิว เปเปอร์ ของสิงคโปร์ ลงพาดหัวข่าว “เซอร์ไพรส์ เซอร์ไพรส์ เซอร์ไพรส์” กับการทำหน้าที่โค้ชเป็นทัวร์นาเมนต์แรกในชีวิตของ “บิ๊กหอย”

การแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ กรุงเทพ ฯ เดือนธันวาคม 2541 นายธวัชชัย สัจจกุล จึงได้มาเป็นผู้จัดการทีมชาติอีกครั้ง โดยร่วมงานกับโค้ชต่างชาติ มร. ปีเตอร์ วิธ เป็นครั้งแรก ทีมไทยคว้าอันดับ 4 และรอบ 8 ทีมสุดท้าย ทีมไทย ชนะ ทีมเกาหลีใต้ 2-1 ทั้งที่มีผู้เล่นน้อยกว่า 2 คน กลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำของแฟนลูกหนังชาวไทย

ปัจจุบันนี้ นายธวัชชัย สัจจกุล จะไม่ได้ยืนอยู่ข้างสนาม เพื่อทำหน้าที่ผู้จัดการทีมแล้วเพราะได้รับการเลือกตั้งจากชาวกรุงเทพฯ ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา อันทรงเกรียติ ในฐานะผู้แทนราษฎรหลายสมัย

หากแต่ผลงานที่มีส่วนร่วมทำให้ทีมไทยครองแชมป์ถึง 5 รายการ ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี คือประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการลูกหนังไทย ตลอดจนนักฟุตบอลทีมชาติชื่อดังเวลาต่อมา เช่น วัชรพงศ์ สมจิตต์,โชคทวี พรหมรัตน์, พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช, ตะวัน ศรีปาน, ดุสิต เฉลิมแสน, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ฯลฯ ล้วนเป็นผลผลิตจาก “ดรีมทีม” ด้วยความตั้งใจจริงของผู้ชายที่ชื่อ ธวัชชัย สัจจกุล ผู้สร้างทีมแห่งความฝัน.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ