Web Analytics
บทความ เลขาผู้สร้างคลังลูกหนัง มล.แหลมฉาน หัสดินทร

บทความ เรื่อง "เลขาผู้สร้างคลังลูกหนัง" มล.แหลมฉาน หัสดินทร

บุรุษผู้เป็นหนึ่งในสามประสานร่วมกันบุกเบิก "ยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย" (พ.ศ. 2500 - 2516) คือ “ลุงต่อ” พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค และ “นายพันลูกหนัง” พล.อ. ประเทียบ เทศวิศาล เพื่อร่างระบบบริหารงานสมาคมและโครงสร้างการจัดแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศ จนสามารถทำให้ทีมชาติไทยก้าวขึ้นครองถ้วยทองเยาวชนแห่งเอเชีย (พ.ศ. 2505) ชนะเลิศเหรียญทองกี...ฬาเซียพเกมส์ (พ.ศ. 2508) ก่อนที่ธงไตรรงค์จะได้ไปโบกสะบัดเหนือสนามฟุตบอลโอลิมปิก (พ.ศ. 2511) รอบสุดท้าย ณ ประเทศเม็กซิโก

หม่อมราชวงศ์ แหลมฉาน หัสดินทร เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2457 ณ พระนคร เป็นบุตร พล.ต.ม.จ.ศรีใสเฉลิมศักดิ์ และหม่อมสืบ (จุลทะ) เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนทหารบก (พ.ศ. 2465 - 2467) ชั้นมัธยม 3 โรงเรียนวัดโสมนัสวิหาร (พ.ศ. 2468 - 2476) จบแผนกวิทยาศาสตร์ โรงเรียนราชบุรีวิทยาลัย (พ.ศ. 2477 - 2478) ปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยไมอามี่ (พ.ศ. 2498 - 2499) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในสมัยเป็นศิษย์ลูกแม่รำเพย หม่อมแหลมฉาน เคยลงแข่งขันฟุตบอลนักเรียนของกรมพลศึกษา จนได้รับหมวกสามารถจากโรงเรียนเทพศิรินทร์, เสื้อสามารถจากสมาคมฟุตบอลฯ (พ.ศ. 2477), เสื้อสามารถกรมพลศึกษารุ่นแรก และเสื้อสามารถสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชั้น 1

จนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2482 หม่อมแหลมฉาน จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทด้านบริหารงานกีฬา คือเป็นประธานแผนกฟุตบอลสโมสรนิสิตจุฬาฯ ก่อนจะได้รับการเลือกตั้งเป็นสภากรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สมัยแรกเมื่อ พ.ศ. 2501โดยได้รับตำแหน่งเหรัญญิก ก่อนขึ้นเป็นเลขาธิการ (พ.ศ. 2504 - 2509) และอุปนายกสมาคม ฯ (พ.ศ. 2510 - 2516) ตามลำดับ

ในประมาณ พ.ศ. 2501 กีฬาลูกหนังเมืองไทยอยู่ในช่วงความนิยมลดน้อยลง กล่าวกันว่า สมาคมฟุตบอลฯ มีหนี้สินจำนวนมาก เมื่อ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคม ฯ จึงได้มอบหมายงานสำคัญให้ หม่อมแหลมฉาน เป็นเหรัญญิกเพื่อช่วยบริหารจัดการเงินของสมาคม ฯ จนกระทั่งพ้นจากวิกฤติดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังสามารถจัดหางบประมาณและทุนสนับสนุน สำหรับพัฒนาการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานทั้ง 4 ประเภท และฟุตบอลเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยนโยบายที่เด่นชัด คือเชิญทีมจากต่างประเทศ เดินทางเข้ามาโชว์ฝีเท้ากับทีมกรุงเทพผสมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กีฬาลูกหนังกลับมาสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับเป็นเจ้าภาพรายการเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 หม่อมแหลมฉาน ในฐานะเลขาธิการ จึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทีมเยาวชนชาติไทย โดยมี พ.อ. ประเทียบ เทศวิศาล เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม และนายสมชาย ศิวะโกเศศ เป็นผู้ฝึกสอน ช่วยกันนำทัพลูกหนังธงไตรรงค์ประสบความสำเร็จระดับชาติเป็นครั้งแรก เมื่อรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 26 เมษายน 2505 ทีมเยาวชนไทย ชนะ ทีมเยาวชนเกาหลีใต้ 2 - 1 ท่ามกลางความปิติยินดีของกองเชียร์ชาวสยาม

ภายหลังแมตช์ดังกล่าว บรรดานักเตะเยาวชนชุดถ้วยทองเหล่านั้นได้ก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นหลักของทีมชาติไทยชุดใหญ่ อาทิ ยงยุทธ สังขโกวิท, ยรรยง ณ หนองคาย, ทวีพงษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, ณรงค์ สังขสุวรรณ, ประเดิม ม่วงเกษม, สมศักดิ์ อ่อนสมา ฯลฯ

ถัดมา 3 ปี สมาคมฟุตบอลฯ ได้ส่งนักเตะทีมชาติไทยไปฝึกอบรมการเล่นลูกหนังและเสริมสร้างประสบการณ์ที่ทวีปยุโรป โดยหม่อมลูกหนังเป็นผู้ประสานงานกับสมาพันธ์ของเยอรมัน ก่อนจะเกิดความผิดพลาด กรณีทีมไทยไม่ได้ไปฝึกซ้อมต่อที่ประเทศเดนมาร์ก จนต้องแสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ แต่ถูกยับยั้งโดยนายกสมาคมฯ ภายหลังนักฟุตบอลชุดดังกล่าว จะกลับมาสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทอง กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 รวมกับทีมชาติพม่า (2 - 2) เป็นผลสำเร็จ

เมื่อ หม่อมแหลมฉานขึ้นดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมฯ ทีมไทยได้ผ่านรอบคัดเลือก จึงได้สิทธิ์ร่วมลงแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ระดับโลก ฟุตบอลโอลิมปิก ครั้งที่ 19 (พ.ศ. 2511) เป็นสมัยที่ 2 ในรอบ 12 ปี กระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2511 สภากรรมการสมาคมฯ จึงมีมติให้จัดการแข่งขันลูกหนังชิงถ้วยพระราชทาน "คิงส์คัพ" ขึ้นเป็นสมัยแรก นอกจากความสำเร็จด้านการบริหารงานสมาคมแล้ว ยังสามารถสร้างความศรัทธาจนเป็นที่ยอมรับของมหาชนคนลูกหนังสนามศุภฯ เป็นอย่างมาก

เรื่องราวของบุรุษที่อาจกล่าวได้ว่า มีความรัก "กีฬาฟุตบอล" ตลอดชีวิตการทำงาน แม้ว่าปูชนียบุคคลนามว่า “ม.ร.ว. แหลมฉาน หัสดินทร” จะเสียชีวิตไปแล้วกว่า 30 ปี หากแต่ผลงานยังคงเป็นที่ประจักษ์แก่ประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอลของประเทศไทย และ "เกียรติภูมิของทีมชาติไทย" ที่ต้องกล่าวขานตลอดไป.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ