Web Analytics
บทความ รองประธาน FIFA ผู้สร้างตำนานยุครุ่งเรืองของฟุตบอลเมืองไทย

บทความ เรื่อง "รองประธาน FIFA ผู้สร้างตำนานยุครุ่งเรืองของฟุตบอลเมืองไทย"

ในขณะที่การแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสร “ไทยพรีเมียร์ลีก” กำลังได้รับความนิยมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั่วทุกภูมิภาค แต่วลีที่ว่า “ลีกที่แข็งแกร่ง ผลงานทีมชาติก็จะแข็งแกร่ง” กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับผลงานระดับชาติ ของ “ทีมชาติไทย” ที่ผ่านมา ถือว่าล้มเหลวในรอบ 38 ปี ทั้งที่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีนายกสมาคมเป็นถึง “บอร์ด FIFA” ...อันจะต้องแสดงศักดิ์ยภาพสร้างความสำเร็จระดับทวีป ดังเช่นอดีตกว่า 4 ทศวรรษ คอลูกหนังชาวไทยและเอเชียต่างเคยชื่นชมกับผลงานของ “พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค” ในฐานะนายกสมาคมฯ และควบตำแหน่ง “รองประธานฟีฟ่า ฝ่ายกิจการเอเชีย” ผู้สร้างยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลลุ่มน้ำเจ้าพระยา

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค หรือ “ลุงต่อ” ของแฟนบอลสนามศุภฯ อดีตนักเตะขาสั้นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยชุดชนะเลิศชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ ด้วยความรักในกลิ่นสาปลูกหนังจึงได้รับเสียงสนับสนุนจากมวลสโมสรให้ขึ้นเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนที่ 10 (พ.ศ. 2504-2515) ก่อนสร้างความเจริญให้กับวงการกีฬาลูกหนังเมืองไทย จนได้รับเลือกจากชาติสมาชิก “FIFA” ทั่วโลก ให้เป็น “รองประธานฟีฟ่า ฝ่ายกิจการเอเชีย” ระหว่างปี พ.ศ.2509-2517 อีกหนึ่งตำแหน่ง

สำหรับการบริหารจัดองค์กรและพัฒนาระบบการแข่งขัน นั้น พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค มี มรว.แหลมฉาน หัสดินทร เป็น “ฝ่ายบุ๋น” ด้านการเงิน และ พ.ต.ประเทียบ เทศวิศาล หรือ “นายพันลูกหนัง” (ยศขณะนั้น) เป็น “ฝ่ายบู๊” ด้านการเตรียมทีมฟุตบอลชาติไทย นอกจากนี้ยังมี อ.สำเริง ไชยยงค์ หรือ “ปรมาจารย์ลูกหนังเมืองไทย” ช่วยฝึกสอนนักเตะระดับเยาวชนของสมาคมฯ โดยงานแรกของสภากรรมชุด “ลุงต่อ” คือ การขอพระราชทาน “ถ้วย ค” และ “ถ้วย ง” ทำให้การแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศ มีครบทั้ง 4 ดิวิชั่น (แบบอังกฤษ) ในปี พ.ศ.2505 ก่อนจะขอพระราชทานถ้วย “คิงส์คัพ” การแข่งขันระดับชาติของสมาคมฟุตบอลฯ และทวีปเอเชีย ในปี พ.ศ.2511 ตลอดจนการส่งนักเตะไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่ทวีปยุโรป (เยอรมนี, นอร์เวย์, สวีเดน) เป็นเวลานานร่วม 2 เดือน ในกลางปี พ.ศ.2508 จนทำให้สองผู้เล่นทีมชาติไทย ได้รับคัดเลือกเป็น “ASIA ALL STAR” คือ อัศวิน ธงอินเนตร (พ.ศ.2508) และณรงค์ สังขสุวรรณ์ (พ.ศ.2515)

ทีมชาติไทยในสมัยบริหารของ “ลุงต่อ” จึงสามารถสร้างผลงานระดับทวีปเอเชีย คือ ทีมเยาวชนไทยชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนแห่งเอเชีย 2 สมัย (ครั้งที่ 4 พ.ศ.2505, ครั้งที่ 12 พ.ศ.2512), ทีมชาติไทยชนะเลิศฟุตบอลกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 (พ.ศ.2508) ความสำเร็จครั้งแรกของชุดใหญ่ ก่อนนำพาทีมชาติไทยเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโอลิมปิค ครั้งที่ 19 ค.ศ. 1968 (พ.ศ.2511) ณ ประเทศเม็กซิโก

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ยังหาเงินรายได้เข้าสู่คลังของสมาคมฯ จนสามารถนำไปซื้อที่ดินเพื่อเตรียมสร้างสนามฟุตบอลและที่ทำการถาวรของสมาคมฯ แต่เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่ง เกิดเหตุอัปยศมี “เหลือบ” นำที่ดินดังกล่าว ไปแอบขายจนเป็นข่าวอื้อฉาวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

ใน พ.ศ. 2527 พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค จึงได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศ “บุคคลผู้ทรงคุณค่าในรอบ 30 ปี ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย AFC.” (AFC DISTINGUISHED SERVICE AWARD RECEIPIENTS 1984) เป็นโทรฟี่สุดท้ายของชีวิตคนลูกหนัง

ปัจจุบันกาล สมาคมฟุตบอลฯ คือ องค์กรกีฬาที่มีเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมากที่สุดของประเทศไทย แต่กลับไม่สามารถจะสร้างบันทึกหน้าใหม่ให้เป็นเกียรติภูมิของทีมชาติไทย ดังสมัยของ “พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค” ผู้สร้างยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย หรือจะเป็นดังสุภาษิตจีน ที่กล่าวไว้ว่า “สิบปีปลูกต้นไม้ ร้อยปีสร้างทรัพยากรมนุษย์”.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ