Web Analytics
บทความ ผู้สร้างตำนานอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก พระเจริญวิศวกรรม

บทความ เรื่อง "ผู้สร้างตำนานอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก" พระเจริญวิศวกรรม

อัครบุรุษของวงการฟุตบอลสยามประเทศ ผู้ปฏิเสธตำแหน่งรัฐมนตรีของคณะราษฎร์ ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์” ดำรงตนตามคติธรรม 3 ประการแบบตะวันตก คือ INTEGRITY ไม่ปากพูดอย่างใจพูดอย่าง DIGNITY ไม่หมอบกราบผู้ที่ไม่ควรกราบ และ HUMILITY ไม่เอาเด่นเอาดังกับใคร แต่อุทิศกำลังกายและสติปัญญาให้กับราชการงานแผ่นดิน โดยหาญกล้าสร้...างหลังคาสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ “ตักกศิลาลูกหนัง” มาตรฐานสากลแห่งแรกของกีฬาฟุตบอลไทย อันกลายเป็นตำนานจนถึงปัจจุบัน

พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) หรือ James Shea เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2436 ณ พระนคร เป็นบุตร Mr.John Edward Austin Shea (M.I.E.E.) นายช่างวิศวกรไฟฟ้าชาวอังกฤษเชื้อสายไอริช กับนางกี๋ ข้าหลวงในพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายเหนือ เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียน The Christian High School หรือปัจจุบัน คือ “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” (พ.ศ. 2445 - 2450) ระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (พ.ศ. 2450 - 2453) และมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (พ.ศ. 2453 - 2455)

ในระหว่างศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พระเจริญวิศวกรรม ได้ลงเล่นฟุตบอลตำแหน่ง “กองหลัง” ให้ทีมสวนกุหลาบชนะเลิศกีฬาฟุตบอลนักเรียนชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ และเข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2454 นอกจากการเป็นนักกรีฑาประเภทลู่และลานของสถาบัน

ต่อมา พระเจริญวิศวกรรม ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อ ณ Eastbourne College (พ.ศ. 2455) ประเทศอังกฤษ วิชาวิศวกรรมโยธาที่ King”s College, Durham University (พ.ศ. 2457 - 2459) และวิชาวิศวกรรมโยธาสาขาชลประทานที่ University of California (Berkeley) ได้รับปริญญา B.S. in Civil Engineering

นอกจาก พระเจริญวิศวกรรม จะได้รับรางวัลเรียนดีจาก Eastbourne College แล้ว ยังคงเล่นกีฬารักบี้และฟุตบอล จนได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ใน Stag Team หรือกลุ่มนักกีฬาดีเด่นของสถาบัน มีสิทธิสวมเสื้อสามารถสีกรมท่า บนกระเป๋าปักรูปหัวกวางด้วยไหมสีขาว จนกระทั่งมารดาต้องมีจดหมายลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ด้วยความห่วงใย ว่า

“...จะเล่นอะไรอย่าเล่นให้เหลือเกินนัก การเล่นมากไม่ดี เขาเล่นฟุตบอลกันที่วัดแจ้ง คนหนึ่งหกล้มตับแตกตาย เห็นไหมตายเสียเปล่า ๆ ไม่เห็นเป็นประโยชน์เลย แม่ได้สอนแล้ว...”

เมื่อเดินทางกลับสู่สยามประเทศ พระเจริญวิศวกรรม ได้เข้ารับราชการทดแทนบุญคุณแผ่นดินแม่ ในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2462) จนสร้างคุณานัปการต่อวงการวิศวกรรมของประเทศไทยในเวลาต่อมา สำหรับด้านกีฬาฟุตบอลนั้น ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 11 คนของสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชุดชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก) ประจำปี พ.ศ. 2463 ก่อนจะรับตำแหน่งบรรยเวกษก์ (พ.ศ. 2468) มีหน้าที่ควบคุมคณะกรรมการสโมสร แต่ยังคงเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลทั้งประเภทนักเรียนชิงโล่ของกระทรวงธรรมการและประชาชนชิงถ้วยพระราชทานของสมาคมฟุตบอลแห่งสยามฯ โดยเป็นผู้ตัดสินที่มีความเด็ดขาดและยุติธรรม

นายแพทย์เฉลิม บูรณะนนท์ กล่าวไว้ในบันทึกว่า

“...ทีมเก่ง ๆ ในสมัยนั้น มีทีมสโมสรรถไฟ ทีมสโมสรนักเรียนนายร้อยทหารบก และทีมโรงเรียนนายเรือ มักจะเปนคู่แข่งในระดับเดียวกัน กับสโมสรของเรา ทีมที่เราต้องรวังมาก คือ ทีมโรงเรียนนายเรือ ในปีสุดท้ายที่กระผมเล่นในทีมจุฬาฯ กับทีมโรงเรียนนายเรือ เราชนะ 3 ประตู ต่อ 2 ทำให้คุณพระเจริญฯ ดีใจมาก ในค่ำวันนั้น ท่านได้พาลูกทีมไปเลี้ยงที่ห้อยเทียนเหลา...”

ในขณะที่ พระเจริญวิศวกรรม ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2473) ที่บรรดาลูกศิษย์เคารพนับถือและเรียกว่า “คุณพ่อ” เนื่องจากนิสิตคนใดสอบตกเพียงเล็กน้อย ก็จะช่วยพูดกับอาจารย์ที่สอนและออกข้อสอบเพิ่มคะแนนให้นิสิตคนนั้น จะได้รับการคัดเลือกจากสโมสรสมาชิกให้เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2472 - 2474) โดยสร้างผลงานส่งนักฟุตบอลสยามเดินทางไปแข่งขันนอกประเทศเป็นครั้งแรก ณ เมืองไซ่ง่อน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2473 หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ผลปรากฏว่า ทีมชาติสยาม ชนะ ทีมผสมญวน-ฝรั่งเศส 4 - 0 ได้ครองถ้วย มองสิเออร์ ปากีส แยร์ ผู้สำเร็จราชการแคว้นอินโดจีนฝรั่งเศส

ภายหลังเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแต่งตั้ง พระเจริญวิศวกรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้รับการปฏิเสธจนต้องระงับการแต่งตั้งดังกล่าว โดยก่อนหน้านั้น พระเจริญวิศวกรรม ใช้นามสกุลเดียวกับพี่ชายร่วมมารดา พระยาศราภัยพิพัฒ หนึ่งในกบฏบวรเดช คือ “ศราภัยวานิช” จนต้องเปลี่ยนมาเป็น “เชนะกุล” ตามเหตุการณ์และกาลสมัย

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ได้เริ่มการก่อสร้าง “สนามกีฬาสถาน” (Nationsl Stadium) หรือ “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” ในปัจจุบัน ณ บริเวณกรมพลศึกษา ปทุมวัน ด้วยงบประมาณก่อสร้างจำนวน 170,000 บาท ตามที่ น.อ. หลวงศุภชลาศัย (บุ้ง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษา เสนอเรื่องต่อรัฐบาล สำหรับงานแบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ ระยะแรกสร้างอัฒจันทร์ด้านสกอร์บอร์ด ระยะที่สองจึงสร้างอัฒจันทร์ฝั่งที่ประทับ ระยะที่สามสร้างอัฒจันทร์ตรงข้ามกับสกอร์บอร์ด และระยะสุดท้ายสร้างอัฒจันทร์ฝั่งกระถางคบเพลิง จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 มีความจุผู้ชมประมาณ 40,000 คน นับเป็นสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย

โดย พระเจริญวิศวกรรม เป็นหนึ่งในวิศวกรที่มีส่วนดำเนินการระยะที่สอง สำหรับการก่อสร้างอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ฝั่งที่ประทับ” คือ การสร้างหลังคาที่ไม่มีเสาค้ำเป็นผลสำเร็จ อันกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่กล่าวขานของวงการกีฬาและวิศวกรรมเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา

พระเจริญวิศวกรรม ผู้มีวิสัยไม่ค่อยพูดถึงผลงานของตนเอง แต่ปรากฏหลักฐานบทความในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ว่า

“...ระหว่างกลุ่มวิศวกรและมิตรสหายว่า มีการพนันขันต่อแบบทีเล่นทีจริงว่า อาคารอัฒจันทร์หลังแรกในสนามกีฬาแห่งชาติที่มีหลังคาคอนกรีตยื่นออกไปโดยไม่มีเสาค้ำหนุนเลยนั้น คุณพระเจริญวิศวกรรมเป็นผู้ออกแบบและคิดคำนวณเทคนิคทั้งหมดในการก่อสร้าง เขาพนันกันว่าหลังคาซิเมนต์มหึมา (ตั้งมุมสูงกี่องศาไม่ทราบ) จะต้องพังทลายลงมาแน่นอนภายใน 2 - 3 หรือ 5 ปี เพราะไม่มีเสาแข็งแรงค้ำยันไว้ข้างหน้า แต่จนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้อาคารอัฒจันทร์ หรือ “อัศจรรย์” นั้น ก็ยังสถิตเสถียรดำรงอยู่ ส่วนคุณพระเจริญฯ ผู้ก่นคิดก่นสร้างได้อำลาจากไปแล้ว...”

“...วันหนึ่งตอนบ่าย มีการแข่งขันกีฬาที่ปทุมวัน เสียงเชียร์ดังลอยตามลมมาถึงบ้านได้ยินชัด คุณพ่อซึ่งนั่งรับประทานน้ำชาอยู่ ได้ปรารภขึ้นมาลอย ๆ ว่า เมื่อครั้งที่ออกแบบก่อสร้างอัฒจันทร์นั้น ไม่ได้คิดว่าจะมีการส่งเสียงเชียร์ดังกึกก้องถึงเพียงนี้ จึงมิได้คำนวณแรงสั่นสะเทือนของเสียงที่อาจมีต่อสิ่งก่อสร้างเข้าไว้ด้วย แต่ถึงแม้ว่าอัฒจันทร์เกิดพังลงมาเดี๋ยวนี้ พ่อก็ไม่เสียชื่อ เพราะรับประกันไว้แค่ 25 ปีเท่านั้น...”

สุภาพบุรุษสามัญชน เสียชีวิตเมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2530 หากแต่ผลงานการวางรากฐานด้านวิศวกรรมและกีฬาฟุตบอล ยังคงต้องจารึกนามคุณความดี พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) นายกคณะฟุตบอลแห่งสยาม คนที่ 5 ให้สถิตสถาวรดังความมั่นคงของ “หลังคาอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก” เอกลักษณ์สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ อันคงอยู่คู่กับวงการกีฬาฟุตบอลของประเทศไทย ตลอดมากว่า 7 ทศวรรษ.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ