Web Analytics
บทความ 2 สัปดาห์ ก่อนสิ้น "อัศวิน"

บทความ 2 สัปดาห์ก่อนสิ้น "อัศวิน"

ในโอกาสที่ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ของกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ในปี 2509 (คศ.1966) สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน ส่งทีมไทยไปฝึกซ้อมและตระเวนแข่งใน เยอรมนี นอร์เวย์ และ อิสราเอล ในเดือน พฤษภาคม 1965 (2508) และผู้รักษาประตูไทย (อัศวิน ธงอินเนตร) ได้สร้างชื่อเสียงไว้อย่างมากในเยอรมนี

ในเดือนสิงหาคม 1965 ทีมชาติไทย มีโอก...าสเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลเมอร์เดก้า ที่ มาเลเซีย เช่นเคย แม้ว่าจะไม่ได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ก็ตาม แต่ผลที่ออกมาดีกว่าในรุ่นก่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อัศวิน” ผู้รักษาประตูของไทย แสดงความสามารถอย่างดีเยี่ยม และได้คัดเลือกจากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC ให้เป็นผู้รักษาประตู ของทีม “ASIAN ALL STARS” นับว่าเป็นเกียรติอย่างมากของวงการฟุตบอลไทย และก็เป็นเช่นเดียวกับปีก่อน ๆ ในเดือน พฤศจิกายน ทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลฉลองวันชาติของเวียดนามใต้ และในปีนั้น เป็นการเตรียมพร้อมของการแข่งขันกีฬาแหลมทองที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ที่ ประเทศมาเลเซีย

เช้าวันหนึ่ง ในระหว่างอาหารเช้า ที่โรงแรมที่พัก ในเวียดนามใต้ “พี่ผู้หญิง” ภรรยาของคุณวัจน์ อภิบาลภูวนารถ (ผู้จัดการทีม) ซึ่งเดินทางติดตามไปกับทีมฟุตบอลไทย เข้ามาพูดกับอัศวิน ต่อหน้าพวกเราหลายคนว่า “เขาฝันร้ายเกี่ยวกับอัศวิน อยากให้ อัศวิน ระวังตัว ทำบุญ ทำทาน หาทางแก้บน มิฉะนั้นจะมีเหตุร้ายสำหรับตนเอง” พวกเราได้แต่นั่งฟัง อัศวินก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องตลก และพูดว่า “ยังไม่เสียความบริสุทธิ์เลย จะตายได้อย่างไร” และก็ไม่มีใครสนใจ พูดถึงเรื่องนี้กันอีก

หลังจากการแข่งขันที่เวียดนามใต้ ทีมชาติไทยได้เข้าเก็บตัว ที่สนามสโมสรธนาคารกรุงเทพฯ บางนา เพื่อเตรียมทีมเข้าแข่งขันกีฬาแหลมทอง ในเดือนธันวาคม 2508

26 พ.ย. 2508 เป็นวันที่ อัศวิน หมดภาระจากการสอบที่ ม.ธรรมศาสตร์ มาเข้าค่ายและลงฝึกซ้อมกับทีมธนาคารกรุงเทพ ได้เกิดอุบัติเหตุ ระหว่างการฝึกซ้อม เกิดปะทะกับกองหน้าของธนาคารกรุงเทพ ทำให้อัศวิน ล้มลง กุมขมับ แต่ก็ลุกขึ้นและโบกมือ ทำนอง “O.K” และล้มลงอีกครั้งแน่นิ่งไป พวกเรา 3 คน และ พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล โค้ช ช่วยกันแบกขึ้นรถกระบะของธนาคารกรุงเทพ จากสนามบางนา ไป โรงพยาบาลตำรวจ ปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ใกล้ที่สุด (ในขณะนั้น)

ระหว่างที่ พ.อ.ประเทียบ ได้ลงไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ สถานีตำรวจพระโขนง เพื่อให้ช่วยเปิดนำทางจราจรฉุกเฉิน พวกเราช่วยกันอุ้มอัศวิน ลงที่สถานแพทย์แห่งหนึ่ง ตรงข้ามสถานีตำรวจพระโขนง นายแพทย์ตรวจดู ฉีดยาให้หนึ่งเข็มและบอกให้รีบพาไปโรงพยาบาลโดยด่วน พวกเรารอไม่ได้ จึงออกเดินทางต่อไป ทิ้ง พ.อ.ประเทียบ นั่งแท็กซี่ ตามไป

นายแพทย์ที่ ร.พ.ตำรวจ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของอัศวินจากสวนกุหลาบ พยายามทุกอย่าง อย่างสุดความสามารถ หลังจากกว่าครึ่งชั่วโมง ออกมาให้ข่าวร้ายกับพวกเรา 3 คน ที่นั่งรออยู่นอกห้อง

ทุกคนได้แต่เงียบสงบ ด้วยความช็อกไปชั่วขณะ ไม่เคยมีความคิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ เหมือนกับความฝันร้ายที่ไม่มีใครต้องการจะให้เป็นความจริง เมื่อตื่นขึ้น ขณะเดียวกันทางสถานีตำรวจพระโขนง ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ พ.อ.ประเทียบ ต้องนั่งแท็กซี่ ประสบกับข่าวร้าย

“ผดุง นาคแก้ว” 1 ใน 3 ของพวกเรา ที่ไปโรงพยาบาลตำรวจ เป็นผู้นำข่าวร้าย ไปบอกครอบครัวของอัศวิน ซึ่งเป็นเวลาอาหารเย็นของครอบครัว หวุดหวิดถูกขว้างด้วยชามข้าว เพราะความตกใจ อัศวินจากบ้านไปตอนบ่าย และมาได้ข่าวร้ายในตอนค่ำ

เหตุร้ายวันนั้นไม่มีใครคิดมาก่อนเลยว่าจะเกิดขึ้นได้ และนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในหมู่เพื่อนฝูง และการกีฬาฟุตบอลของประเทศไทย และเอเชีย ไม่น้อยไปกว่าครอบครัวของ “อัศวิน”

การกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซบเซา ด้วยความโศกเศร้า จากการสูญเสียครั้งนี้ หอพักเก็บตัวทีมชาติ ที่สโมสรธนาคารกรุงเทพ ต้องปิดลงชั่วคราว แม้ว่าการแข่งขันกีฬาแหลมทอง จะมีขึ้นอีกไม่กี่วัน แต่ทุกคนเข้าใจ เพื่อให้ปลดปล่อยความโศกเศร้าไปชั่วขณะ

ความเศร้าสลดที่ขาดเพื่อนร่วมทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้รักษาประตู” ซึ่งคอยป้องกันด่านสุดท้ายของทีม ทำให้พวกเราหมดความหวังที่จะลงแข่งขัน และคงไม่มีความหมายแต่อย่างไร

อีกด้านหนึ่ง มีความรู้สึกว่าหากเอาชัยชนะในกีฬาแหลมทองได้ ก็คงจะช่วยผ่อนคลายความโศกเศร้าไปได้บ้าง และเหตุนี้ ทำให้พวกเรา มีมานะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หมดความเหน็ดเหนื่อย ท้อถอย เสียสละทุกอย่าง เพื่อที่จะนำชัยชนะมาสู่ ทีมชาติไทย และ “อัศวิน”

ภายใต้การควบคุม และระเบียบวินัยของ พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล (ยศในขณะนั้น) และอาจารย์ ลัยอาจ ภมะราภา ทีมชาติไทย สามารถเอาชนะ ทีมชาติเวียดนามใต้ทั้งสองครั้ง ในรอบแรก และรอบรองชนะเลิศ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ของการแข่งขันกับเวียดนามใต้ที่ผ่านมา และทีมชาติไทยมีโอกาสเข้าชิงกับพม่า ซึ่งเป็นทีมชาติที่แกร่งที่สุดในเอเชียในเวลานั้น

21 ธันวาคม 2508 วันชิงชนะเลิศ ทีมชาติไทย สามารถทำประตูนำไปก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะลูกที่สอง “ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง” พยายามส่งย้อยมาหน้าประตูพม่า “ทิน อ่อง” ผู้รักษาประตูพม่า (ดาราเอเชีย หลังจากอัศวิน) โดดขึ้นรับแต่ลูกบอลผ่านระหว่างมือเขาหลุดเข้าไป ทำให้ทีมชาติไทยนำไปก่อน 2-0 และทีมพม่าตามตีเสมอได้สำเร็จในภายหลัง 2 - 2

ในระยะเวลาที่เหลือกว่า 15 นาที ในครึ่งหลังพม่าพยายามเร่งเพื่อทำประตูมากขึ้น แต่ก็พลาดไปหมด ถ้าสังเกต หลังประตูของทีมชาติไทย จะเห็นควันธูปลอยมากมาย ซึ่งอาจารย์ ลัยอาจ นำไปปัก ขอให้ “อัศวิน”ช่วย ทำให้จบเกมเสมอกัน 2 - 2

ช่วงต่อเวลาพิเศษอีก 30 นาที ทีมพม่า ยังเป็นฝ่ายบุกอยู่ตลอดเวลา ควันธูปจากหลังประตูไทยก็มีมากขึ้น มีความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างมาช่วยป้องกัน ให้ทีมพม่าทำพลาดไป อย่างไม่น่าเชื่อ

จบการแข่งขัน ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ครองเหรียญทองร่วมกับ ทีมชาติพม่า ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 ปี 2508 (ค.ศ.1965) ที่ ประเทศมาเลเซีย

ในปีต่อมา ทีมชาติพม่า ได้ครองเหรียญทอง ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ ในปี 1966 ทีมชาติไทยเสมอกับพม่าในรอบแรก แต่พลาดท่าพลิกล็อค แพ้ สิงคโปร์ในรอบสอง ทำให้ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย...

ยงยุทธ สังขโกวิท ผู้เขียน
นักฟุตบอลทีมชาติไทยตั้งแต่ Asian
Games
1962 - จาการ์ต้า อินโดนีเซีย
จนถึง Summer Olympic
Games
1968 – เม็กซิโก ซิตี้
นิตยสารนักเลงฟุตบอล ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน 2550