Web Analytics
บทความ หมวกพระราชทานทีมชาติสยาม

บทความ เรื่อง “หมวกพระราชทานทีมชาติสยาม”

ในประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอลทีมแรกของโลก ที่มีการมอบหมวกให้แก่นักเตะซึ่งถูกคัดเลือกเป็นผู้แทนของประเทศ คือ “ทีมชาติอังกฤษ” เมื่อ ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2429) หรือ 123 ปีที่ผ่านมา
 
โดยเรียกหมวกดังกล่าวว่า "หมวกแก๊ป" (INTERNATIONAL CAP) ภายหลังกลุ่มเครือจักรภพอังกฤษ เวลส์, สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนเหนือ จึงเจริญรอยตามประเพณีการให้หมวกแก่ผู้เล่นทีมชาติ นอกจากเพื่อเป็น...เกียรติประวัติแล้ว ยังแสดงถึงสถิติการลงเล่นระหว่างชาติ ด้วยจำนวนของหมวกที่ได้รับนั้นด้วย

ต่อมาอีก 29 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ คือ อังกฤษ จึงได้นำประเพณีการมอบหมวกมาใช้กับคณะฟุตบอลสยาม หรือ "ทีมชาติสยาม" ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2458 ณ สนามสามัคยาจารย์สมาคม ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

โดยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้คณะฟุตบอลสยามนำ "ตราพระมหามงกุฎ" ประดิษฐานอยู่เหนือลูกฟุตบอล เพื่อนำไปติดไว้บนหน้าหมวก ลักษณะคล้ายกับหมวกลูกเสือสำรองของไทยในปัจจุบัน คือมีปีกด้านหน้า ส่วนตัวหมวกจะสลับสีแดงและสีขาว ขลิบเส้นด้วยดิ้นสีทอง และมีภู่บนยอดหมวก พร้อมทั้งมีตัวอักษรและเลขไทยเพื่อแสดงวันที่ เดือน และพุทธศักราช ใต้ตราพระมหามงกุฎ อันเป็นเกียรติประวัติการลงแข่งขันระหว่างชาติ ในสมัยนั้น

หนังสือพิมพ์ กรุงเทพ ฯ เดลิเมล์ ฉบับวันพุธที่ 24พฤศจิกายน 2458 ได้ลงข่าวคำกล่าวของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) หรือต่อมาคือ “เจ้าพระยารามราฆพ” สภานายกฟุตบอลคนแรกของสยามประเทศ ดังนี้

"...หมวก เครื่องหมายความสามารถฟุตบอล ที่ท่านจะได้รับไปในเวลาอีกสักครู่หนึ่งนี้ ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ตราพระมหามงกุฎ ซึ่งควรรู้สึกว่าเปนเกียรติยศการรักชาติ ย่อมจะแสดงได้หลายสถาน แต่การที่ท่านตั้งใจเข้าเล่นแข่งขัน ให้ถึงซึ่งไชยชนะให้แก่ชาติในคราวนี้ ก็เปนส่วนหนึ่งแห่งการรักชาติ..." (ภาษาเขียนสมัยนั้น)

อนึ่ง นักฟุตบอลทีมชาติสยามที่ได้รับพระราชทาน “หมวกตราพระมหามงกุฎ” ดังกล่าว และปรากฏชื่อตามสิ่งพิมพ์เก่าที่ค้นพบหลักฐาน คือ นายอิน สถิตยวณิช, นายต๋อ ศุกระศร, นายภูหิน สถาวรวณิช, นายกิมฮวด (วัฒน์) วณิชยจินดา, นายตาด เสตะกสิกร, นายแถม ประภาสะวัต, นายศรีนวล มโนหรทัต, นายชอบ หังสสูต, นายโชติ ยูปานนท์, นายจรูญ รัตโนดม, หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, นายบุญชู ศีตะจิตต์, นายสวาสดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, นายอู๋ พรรธนะแพทย์, นายเพิ่ม เมษประสาท, นายบุญสม รัชตะวรรณ และนายผัน ทัพภะเวส

นอกจากนี้ สโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ในรัชสมัย "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ล้วนแล้วแต่มีการจัดทำหมวกประจำทีม โดยจะมีตราประจำทีมเหล่านั้น ติดอยู่บนหน้าหมวกเช่นกัน นับว่าเป็นพระวิสัยทัศน์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงต้องการให้ราษฏรชาวสยามเล่นฟุตบอลเป็นการออกกำลังกายแล้ว พระราชประสงค์สำคัญประการหนึ่ง คือการสร้างความสามัคคีและความรักในหมู่คณะของคนไทยด้วยกันเอง เนื่องจากขณะนั้น “สยาม” ตกอยู่ในฐานะ "รัฐกันชน" ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างชาติมหาอำนาจจักรวรรดิ์นิยมตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศส นั้นเอง

"หมวกพระราชทานตราพระมหามงกุฎ" มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลเมืองไทย อันแสดงเอกลัษณ์วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าแห่งศักดิ์ศรี “เกียรติภูมิทีมชาติไทย” ที่มีตราของสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับ "ตราสิงโตสามตัว" บนหน้าหมวกกำมะหยี่สีน้ำเงิน (BLUE VELVET) ของทีมชาติอังกฤษ เกียรติยศจากสถาบันสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข…มาตั้งแต่ปฐมบทต้นตระกูลฟุตบอลไทย.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัต