Web Analytics
บทความ 47 ปี ตำนานทีมชาติไทย-ทีมชาตินอร์เวย์

บทความ เรื่อง "47 ปี ตำนานทีมชาติไทย-ทีมชาตินอร์เวย์"

ในประวัติศาสตร์ทีมลูกหนังของชาติไทยนั้น ขุนพลธงไตรรงค์เคยลงสนามพบกับทีมชาติชุดใหญ่ของประเทศต่าง ๆ มาเกือบทัวโลก โดยเฉพาะกับทีมที่ลงเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายมาแล้ว หนึ่งในนั้น คือ “ทีมชาตินอร์เวย์” เจ้าของสถิติการผ่านเข้ารอบสุดท้ายของ “world cup” รวม 2 สมัย (ค.ศ. 1994, 1998) และยังเป็นแมตช์แรกที่ FIFA ให้การรับรองเป็นครั้งแรกของทั้งสองทีมจากต่างทวีป อีกด้วย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ พ.ศ. 2508 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี “ลุงต่อ” พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค เป็นนายกสมาคมฯ ได้ติดต่อขอความร่วมมือด้านการกีฬาลูกหนังไปยังสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศเยอรมนีตะวันตก (ก่อนรวมกับเยอรมนีตะวันออก) เพื่อขอส่งนักเตะทีมชาติไทยไปฝึกอบรมการเล่นและฝึกซ้อม ณ สปอร์ตชูเล่ย์ เมืองโคโลญจน์ เป็นเวลาร่วม 2 เดือน (เมษายน - พฤษภาคม 2508) พร้อมทั้งลงสนามหาประสบการณ์กับทีมระดับท้องถิ่นและสโมสรอาชีพของเมืองเบียร์ สำหรับการเตรียมทีมแข่งขันฟุตบอลกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2508) และกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2509) ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ มรว.แหลมฉาน หัสดินทร เลขาธิการฯ ยังได้ดำเนินการประสานงานให้ทีมชาติไทย ได้มีโอกาสลงสนามพบกับทีมชาติของทวีปยุโรป คือ ทีมชาติเยอรมนีชุดปรี-โอลิมปิก (แพ้ 0-4) ทีมชาติเดนมาร์ก (ยกเลิกภายหลัง) ทีมชาตินอร์เวย์ชุดปรี-เวิล์ดคัพ และทีมชาติอิสราเอล (เสมอ 1-1)

ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508) ณ สนามบราน สเตเดียม ของสโมสรบราน เมืองเบอร์เก้น ประเทศนอร์เวย์ แมตช์กระชับมิตรระหว่างชาติ ทีมชาตินอร์เวย์ พบ ทีมชาติไทย 7-0 โดยมี มร.เทรด โซเรนเซน ชาวเดนมาร์กเป็นผู้ตัดสิน ทีมเจ้าบ้านสวมเสื้อสีแดง ผู้เล่นเป็นชุดเตรียมแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ค.ศ. 1966 (ประเทศอังกฤษ เป็นเจ้าภาพ) ในขณะที่ทีมเยือนจากลุ่มเจ้าพระยาสวมเสื้อสีน้ำเงิน โดยมี มร.ไฮร์ มุลลัค ชาวเยอรมันเป็นผู้ฝึกสอน สำหรับนักเตะไทยประกอบด้วย อัศวิน ธงอินเนตร (ดาราเอเชีย พ.ศ. 2508), อนันต์ คงเจริญ, วิชิต แย้มบุญเรือง, ยงยุทธ สังขโกวิท, ณรงค์ สังขสุวรรณ (ดาราเอเชีย พ.ศ. 2515), ยรรยง ณ หนองคาย, ประเดิม ม่วงเกษม, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, ยรรยง นิลภิรมย์ ฯลฯ ผลการแข่งขัน ทีมชาตินอร์เวย์ ชนะ ทีมชาติไทย 7-0 ผู้ทำประตูให้ทีมไวกิ้งส์ คือ เคิร์ท คาสเปอร์เซน, อิริค โจฮันเซน, เออนี่ ปีเดอร์เซน, โอรีฟ นีลเซน และฮาราล เบิร์ก ทำแฮทริกยิงคนเดียว 3 ประตู

แม้ว่าทีมชาติไทยจะแพ้ทีมเจ้าถิ่นอย่างยับเยิน แต่เช้าวันต่อมา หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับของประเทศนอร์เวย์ กลับลงภาพข่าวพร้อมกล่าวยกย่องผู้รักษาประตูของทีมธงไตรรงค์ คือ “อัศวิน ธงอินเนตร” โดยกล่าวว่า เป็นผู้ทำหน้าที่ป้องกันประตูได้อย่างยอดเยี่ยม มิฉะนั้นแล้วทีมชาตินอร์เวย์ของตน จะต้องชนะทีมชาติไทยไม่ต่ำกว่า 15 ประตู

หลังจากนัดนั้น เกือบ 5 ทศวรรษ ในวันที่ 18มกราคม 2555 ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 41 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ทีมชาติไทย พบ ทีมชาตินอร์เวย์ นับเป็นนัดที่ 2 ของทั้งสองชาติลูกหนัง โดยการรับรองของ FIFA อีกเช่นกัน แม้ว่าทีมเจ้าถิ่นจะพ่ายทีมจากสแกนดินีเวียร์ไปอย่างหวุด 0-1 ซึ่งไม่สามารถล้างแค้นแทนนักเตะรุ่นพี่ได้สำเร็จอีกครั้ง

แต่ในสนามนัดดังกล่าว หนึ่งในผู้เล่นแมตช์แห่งตำนาน คือ “เอกิล โอลเซ่น” ผู้เล่นหมายเลข 4 ของทีมชาตินอร์เวย์ เมื่อ 47 ปีที่แล้ว ได้ปรากฏตัวมาในฐานะของผู้ฝึกสอนทีมเยือน นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ เพราะภายหลังจบเกมส์ 90 นาที โค้ชทีมเยือนวัย 70 ปี ได้กล่าวกับนักข่าวชาวไทยคนหนึ่ง เมื่อถูกถามถึงอดีตที่เคยลงสนามพบกับทีมชาติไทยมาแล้วสมัยเป็นนักเตะทีมชาติ ว่า

“ผมยังจำแมตช์ที่เล่นกับทีมชาติไทย เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาได้ดี และผลการแข่งขันวันนี้ แสดงให้เห็นว่าทีมชาติไทยพัฒนาขึ้นกว่าเดิม”

ก่อนที่วีรบุรุษลูกหนังรุ่นคุณปู่จะถ่ายภาพร่วมกับนักข่าวชาวไทยรุ่นหลาน ด้วยรอยยิ้มของความรุ่งโรจน์ที่ผ่านมา

อนึ่ง สำหรับประวัติพอสังเขป ของ “เอกิล โอลเซ่น” (EGIL ROGER OLSEN) โค้ชทีมชาตินอร์เวย์ ฉายา “จอมแทคติก” เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1942) ติดทีมชาตินอร์เวย์ระหว่าง ค.ศ. 1964-1971 มีฉายาสมัยเป็นนักฟุตบอลว่า “DRILLOW” ก่อนขึ้นเป็นผู้จัดการทีมชาตินอร์เวย์ และประสบความสำเร็จนำทีมเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2 สมัย 1994 / 1998

อดีต คือบทเรียนของอนาคต และการที่จะเป็นบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ตลอดกาลนั้น ไม่ว่าในด้านใด ๆ ย่อมจะต้องอาศัยคุณงามความดี ความเสียสละด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ของตนเอง อาจตลอดทั้งชีวิตของคน ๆ คนหนึ่ง หากแต่ทุกหน้าของตัวอักษรก็คงคู่ควรกับการจดบันทึกให้เป็นอนุสรณ์ไปชั่วลูก…ชั่วหลาน.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ