บทความ เรื่อง "โอลิมปิก เมลเบิร์น 1956 เกมส์เกียรติยศ"
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ ครบรอบ 55 ปี ที่นักเตะตราธงไตรรงค์ในฐานะทีมตัวแทนทวีปเอเชีย ลงเล่นฟุตบอลโอลิมปิก “เกมส์เกียรติยศ” รอบ 16 ทีมสุดท้าย ณ เมืองเมลเบิร์น รายการระดับโลกครั้งแรกของทีมชาติไทย
กีฬาโอลิมปิก (OLYMPIC GAMES) เริ่มจัดการแข่งขันขึ้นสมัยแรก ณ กรุงเอเธน (ATHENS) ประเทศกรีซ (GREECE) เมื่อ ค.ศ. 1896 โดย มร.บารอน ปิแอร์ เดอร์ คูแบร์แตง (BARON PIERRE DE COUBERTIN) ชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้งโอลิมปิกสมัยใหม่ เพื่อต้องการให้ “โอลิมปิก” เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ ในการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยมิตรภาพ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น
สัญลักษณ์โอลิมปิกสากล คือวงกลม 5 ห่วงบนพื้นธงสีขาว อันจะแทนความหมายของแต่ละทวีป ได้แก่ สีน้ำเงิน หมายถึงทวีปยุโรป (EUROPE), สีเหลือง หมายถึงทวีปเอเชีย (ASIA), สีดำ หมายถึงทวีปแอฟริกา (AFRICA), สีขาว หมายถึงทวีปออสเตรเลีย (AUSTRALIA) รวมถึงหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และสีแดง หมายถึงทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้ (NORTH AMERICA AND SOUTH AMERICA)
ราชอาณาจักรไทย (KINGDOM OF THAILAND) ได้ดำเนินการส่งคณะนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเป็นสมัยแรก เมื่อกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 15 ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ณ เมืองเฮลซิงกิ (HELSINKI) ประเทศฟินแลนด์ (FINLAND) ในปีดังกล่าว มีหลายชาติแสดงเจตจำนงส่งทีมชิงเหรียญทองกีฬาประเภทฟุตบอล เป็นจำนวนมาก จึงทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ OCA. ต้องกำหนดให้ทำการแข่งขันรอบคัดเลือก จึงเรียกกันว่า “ปรี-โอลิมปิก” (PRE-OLYMPIC)
2 ปีต่อมา “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” (เปลี่ยนชื่อจาก คณะฟุตบอลแห่งสยาม) จึงมีหนังสือไปยังคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เพื่อขอสมัครเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอล ปรี-โอลิมปิก ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) โดย ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ รำลึกความหลังว่า ขุนพลนักเตะสยามต้องลงเล่นเป็นทีมเหย้าในบ้านก่อนสองแมตช์ คือ ทีมชาติไทย เสมอ ทีมชาติพม่า 2 - 2 และทีมชาติไทย เสมอ ทีมชาติฮ่องกง 4 - 4 แต่เมื่อต้องเล่นเป็นทีมเยือนต่างถิ่น ปรากฎว่าประเทศพม่าที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของเครือจักรภพอังกฤษ เกิดเหตุการณ์ปฎิวัติภายในประเทศ ขณะที่สมาคมฟุตบอลของไต้หวัน มีคำสั่งห้ามผู้เล่นของตนเดินทางไปลงสนามในนาม “ทีมชาติฮ่องกง” อีก ทีมไทยจึงชนะผ่านและก้าวเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ศึกลูกหนังกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ทันที
ในสมัยนั้น สมาคมฟุตบอลฯ มี พล.ต.เผชิญ นิมิบุตร รักษาการณ์ตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาเป็นสภานายกสมาคมฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดโอลิมปิก ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญ คือพระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ-ชูโต) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทย (คนแรก) สภากรรมการสมาคมฯ มี นายเฉลียว ไวทยาพร, นายกอง วิสุทธารมณ์, นายบุญชู สมุทรโคจร (ผู้จัดการสโมสรชายสด) และอดีตนักฟุตบอลทีมกรุงเทพผสม มี ดร.นายแพทย์บุญสม มาร์ติน, นายถกล พินทุสมิต, นายประกอบเกื้อ บุนนาค ฯลฯ โดยขั้นแรกให้สโมสรสมาชิกที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก ) และถ้วยน้อย (ถ้วย ข ) ใช้สิทธิ์พิจารณาเสนอรายชื่อนักเตะร่วมคัดเลือกตัว สโมสรละ 5 คน รวมแล้วกว่า 100 คน ก่อนจะทำการทดสอบฝีเท้าและความสามารถแต่ละตำแหน่ง ณ สนามเซ็นหลุยส์ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ เพื่อตัดให้เหลือเพียงแค่ 33 คน สำหรับแบ่งออกเป็น 3 ทีม
ก่อนประกาศรายชื่อผู้เล่นทั้ง 3 ชุด ดังกล่าว สโมสรทหารอากาศได้ทำหนังสือขอถอนตัวนักฟุตบอลทั้งหมดออกจากการคัดเลือก เนื่องจากความคิดเห็นบางประการไม่ตรงกับสมาคมฟุตบอลฯ ต่อมา พล.อ.ท.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ผู้บัญชาการทหารอากาศจึงนำนักเตะทัพฟ้าเดินทางไปแข่งขันเชื่อมมิตรภาพกับกองทัพของประเทศพม่า ณ กรุงย่างกุ้ง จึงทำให้ พล.ต.เผชิญ นิมิบุตร ยื่นหนังสือขอลาออกจากคณะกรรมการคัดเลือกชุดดังกล่าว จนต้องมีการแต่งตั้ง พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร เข้ามาทำหน้าที่แทน
อนึ่ง หลังจากนั้น 5 ปี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2503 พล.อ.ท.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมระหว่างกองทัพอากาศภาคพื้นแปซิฟิก "OPERATION GET TOGETHER" เนื่องจากเครื่องบิน ดี.ซี. 4 ที่กำลังบินกลับเมืองไทยพุ่งชนภูเขา ณ กรุงไทเป ทำให้ จอมพล เจียง ไค เช็ค ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวคำไว้อาลัยอันเป็นวาทอมตะว่า "เมื่อดาวร่วง ทั่วฟ้าเศร้า" ก่อนจะได้รับพระราชทานยศเป็น "จอมพลอากาศ" ในเวลาต่อมา
เมื่อ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องฟันฝ่าอุปสรรค์และปัญหานานัปการแล้ว จึงเตรียมแผนจะนำทีมชาติไทยเดินทางไปเก็บตัวและลงเตะอุ่นเครื่องที่เกาะฮ่องกง แต่ถูกตอบปฏิเสธ เพราะระหว่างนั้นมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยเอเชีย หรือ "เอเชี่ยนคัพ" ครั้งแรก (ทีมชาติเกาหลีใต้ชนะเลิศ) โดยทีมชาติไทยไม่ได้เข้าร่วมทัวร์นาเม้นท์ ดังกล่าว
หนังสือพิมพ์สยามนิกร (THE SIAM NIKORN) ฉบับประจำวันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2499 ลงบทความตอนหนึ่ง ว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่าไทยเรามิได้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่จะไปแข่งขันในโอลิมปิกที่ออสเตรเลีย ปลายปีเลยทีเดียว”
จึงทำให้นักเตะไทยต้องลงทดสอบฝีเท้าภายในประเทศ ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ในนามกรุงเทพผสมทีม 1 และทีม 2 ตลอดปี 2499 ดังนี้ 13 กุมภาพันธ์ กรุงเทพผสมทีม 1 แพ้ สโมสรไวเนอร์ สปอร์ตคลับ 0 - 12 (0 - 6), 14 กุมภาพันธ์ กรุงเทพผสมทีม 2 แพ้ สโมสรไวเนอร์ฯ 1 - 7 (1 - 0), 11 กรกฎาคม กรุงเทพผสม แพ้ ทีมซิงเตา (ฮ่องกง) 0 - 1 (0 - 0), 5 สิงหาคม กรุงเทพผสม แพ้ ทีมตุงฟัง (ฮ่องกง) 3 - 5 (2 - 3), 10 ตุลาคม กรุงเทพผสม แพ้ ทีมซิงเตา (ฮ่องกง) 1 - 3
สำหรับการอุ่นเครื่องนัดที่ 2 (14 กุมภาพันธ์) กรุงเทพผสมทีม 2 ยิงประตูขึ้นนำสโมสรไวเนอร์ สปอร์ตคลับ ไปก่อนด้วยสกอร์ 1 - 0 ด้วยลูกยิงไซด์โค้งระยะไกลของ “ไอ้ปืนใหญ่” วิวัฒน์ มิลินทจินดา ผู้เคยสร้างตำนานลูกเตะอัดรังผึ้งใต้หลังคาอัฒจันทร์สนามศุภฯ จนทำให้การแข่งขันนัดหนึ่งต้องถูกยกเลิกกลางคันเพราะฤทธิ์ผึ้งแตกรัง ก่อนนักเตะจากลุ่มแม่น้ำดานูป ทีมแรกจากยุโรปที่เข้ามาเยือนเมืองไทย ประกอบด้วยผู้เล่นทีมชาติออสเตรีย (AUSTRIA) เกือบทั้งชุด จะเปิดเกมถล่มทีมเจ้าถิ่นยับเยิน 7 - 1
กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ณ เมืองเมลเบิร์น (MELBOURNE) รัฐสวัสดิการออสเตรเลีย (AUSTALIA) ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม ค.ศ. 1956 มีทีมฟุตบอลผ่านเข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้าย รวม 16 ประเทศ คือ ทีมชาติสหรัฐอเมริกา (UNITED STATES OF AMERICA), ทีมชาติยูโกสลาเวีย (YUGOSLAVIA), ทีมชาติบัลแกเรีย (BULGARIA), ทีมชาติอียิปต์ (EGYPT), ทีมชาติไต้หวัน (THE REPUBLIC OF TAIWAN), ทีมชาติตุรกี (TURKEY), ทีมชาติโซเวียต (UNION OF SOVIET SOCIALIST REPUBLICS), ทีมชาติเยอรมันตะวันตก (WEST GERMANY), ทีมชาติเวียดนามใต้ (SOUTH VIETNAM), ทีมชาติอินโดนีเซีย (INDONESIA), ทีมสหราชอาณาจักร (GREAT BRITATN), ทีมชาติไทย (THAILAND), ทีมชาติออสเตรเลีย (AUSTALIA), ทีมชาติญี่ปุ่น (JAPAN), ทีมชาติฮังการี (HUNGARY) และทีมชาติอินเดีย (INDIA) โดยไม่มีทีมตัวแทนจากทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากสมัยนั้น การคมนาคมและสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นผลให้มีชาติจากเอเชียลงเล่นรอบสุดท้ายถึง 6 ทีม
ดังนั้น คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก ค.ศ. 1956 จึงต้องใช้วิธีประกบคู่รอบสอง (แบบฟุตบอล F.A. CUP ของอังกฤษ) โดยทีมแพ้จะตกรอบทันที และผลการจับสลากปรากฏ คือ 24 พฤศจิกายน ทีมชาติไต้หวัน พบ ทีมชาติตุรกี และทีมชาติโซเวียต พบ ทีมชาติเยอรมันตะวันตก (2 - 1), 26 พฤศจิกายน ทีมชาติเวียดนามใต้ พบ ทีมชาติอินโดนีเซีย และทีมชาติไทย พบ ทีมสหราชอาณาจักร, 27 พฤศจิกายน ทีมชาติออสเตรเลีย พบ ทีมชาติญี่ปุ่น (2 - 0) และทีมชาติฮังการี พบ ทีมชาติอินเดีย และวันสุดท้าย 28 พฤศจิกายน ทีมชาติสหรัฐ พบ ทีมชาติยูโกสลาเวีย (1 - 9) และทีมชาติบัลแกเรีย พบ ทีมชาติอียิปต์
เมื่อสื่อมวลชนไทยทราบผลการประกบคู่ลูกหนังโอลิมปิก รอบสุดท้าย ทีมชาติไทย พบทีมสหราชอาณาจักร ดินแดนแห่งต้นตำรับกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ และเจ้าของเหรียญทองฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก 3 สมัย (ค.ศ. 1900, 1908, 1912) หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงบทความวิจารณ์เชิงวิพาก ว่า “ในการที่รัฐจะนำเงินภาษีอากรของแผ่นดินกว่า 1 ล้านบาท ส่งนักกีฬาและทีมฟุตบอลไทยไปแข่งขันรอบสุดท้าย นอกจากไม่มีโอกาสผ่านเข้าสู่รอบต่อไปแล้ว อาจต้องพ่ายแพ้กลับมาแบบยับเยินอีกต่างหาก” ท่ามกลางกระแสถูกโจมตีอย่างหนักบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกไทยมีคำสั่งให้สมาคมฯ ที่เตรียมนักฟุตบอลตามโควต้า จำนวน 22 คน ต้องพิจารณาตัดผู้เล่นออกอีกถึง 9 คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณดังกล่าว
ทีมชาติไทยชุดโอลิมปิก เมลเบิร์น ค.ศ. 1956 จำนวน 13 คน คือผู้รักษาประตู เกษม ใบคำ, ตุ๊ สุวณิชย์ กองหลัง ประทีป เจิมอุทัย, สุรพงษ์ ชุติมาวงศ์, โสภณ หะยาจันทรา กองกลาง ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์, วันชัย สุวารี กองหน้า สุกิจ จิตรานุเคราะห์, บำเพ็ญ ลัทธิมนต์, สำรวย (สำเริง) ไชยยงค์, นิตย์ ศรียาภัย, สุชาติ มุทุกันฑ์ และวิวัฒน์ มิลินทจินดา (หัวหน้าทีม) มี นายกอง วิสุทธารมณ์ เป็นผู้จัดการทีม และนายบุญชู สมุทรโคจร เป็นผู้ควบคุมทีม
ในส่วนทีมสหราชอาณาจักร หรือ “GREAT BRITATN” (อังกฤษ, สก๊อตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ) นักฟุตบอลทั้งหมดเป็นนักเตะระดับสมัครเล่น (ตามกฎของ OCA. ห้ามนักกีฬาอาชีพเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก) มี มร.วอร์เธอร์ วินเทอร์บอททอม (MR.WALTER WINTERBOTTOM) อดีตผู้เล่นสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นผู้จัดการทีมชาติ (ค.ศ. 1946 - 1962) โดยมีผลการอุ่นเครื่องภายในประเทศรวม 2 แมตช์ คือ 16 มีนาคม ชนะ ทีมชาติไอร์แลนด์ (IRELAND) 5 - 2 (2 - 0) และ 1 ตุลาคม แพ้ ทีมชาติอูกันดา (UGANDA) 0 - 1 (0 - 0)
อนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวว่า นัดที่สองนั้น ทีมจากทวีปแอฟริกา “อูกันดา” ใช้เพียงเท้าเปล่าลงสนาม ก่อนพลิกชนะนักเตะเจ้าถิ่นได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยส่งผลให้หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยหยุดเขียนข่าววิจารณ์ทีมชาติไทยไปได้ระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ ก่อนพิธีเปิดสนาม กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 เครื่องบินที่เชิญไฟ "พระฤกษ์" จาก
เมืองโอลิมเปีย (OLYMPIA) ประเทศกรีก (GREECE) เพื่อนำไปจุด ณ กระถางคบเพลิง เมืองเมลเบิร์น ได้มาแวะพักเครื่องที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ จึงจัดพิธีการต้อนรับไฟโอลิมปิกอย่างสมเกียรติเป็นครั้งแรก
ในขณะที่สถานการณ์รอบโลก ได้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศหลายประการ กล่าวคือกองทัพรัสเซียบุกยึดครองกรุงบูดาเปสต์ (BUDAPEST) นครหลวงของประเทศฮังการี ส่งผลให้แผ่นดินยุโรปต้องปกคลุมไปด้วยสงครามเย็น และอีกด้านหนึ่ง คือวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (SUEZ CANAL) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1956 เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศอังกฤษกับประเทศฝรั่งเศส เพื่อแย่งสิทธิเหนือดินแดนคลองสุเอซ ที่ใช้แรงงานคนขุดเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (MEDITERRANEAN SEA) กับทะเลแดง (RED SEA) มีระยะทางยาวประมาณ 160 กิโลเมตร ส่งผลกระทบให้ สเปน, ฮอลแลนด์, อิรัก, ฮังการี, จีนชาติ (ไต้หวัน), ตุรกี, อียิปต์ และเวียดนามใต้ ได้ประกาศถอนทีมนักกีฬาทั้งหมด ออกจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมลเบิร์น ทันที
ดังนั้น การแข่งขันฟุตบอลตามโปรแกรมทั้งหมด 8 คู่ จึงเหลือเพียง 4 คู่เท่านั้น เพราะมีการชนะผ่านถึง 3 ทีม คือ ทีมชาติบัลแกเรีย ชนะผ่านทีมชาติอียิปต์, ทีมชาติอินโดนีเซีย ชนะผ่านทีมชาติเวียดนามใต้ และทีมชาติอินเดีย ชนะผ่านทีมชาติฮังการี โดยยกเลิกคู่ ทีมชาติไต้หวัน กับ ทีมชาติตุรกี ในขณะที่ทีมชาติอินเดีย ต้องกล่าวว่า มี “เทพีแห่งโชค” ยืนอยู่เคียงข้าง เนื่องจากรอบคัดเลือก ก็จับสลากได้ผ่าน BAY เข้ามาเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ทำให้เจ้าของเหรียญทองกีฬาฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์ (พ.ศ. 2492) ผ่านเข้าสู่รอบ ควอเตอร์-ไฟแนล (COUNTER-FINAL) แบบไม่ต้องเสียเหงื่ออีกคำรบหนึ่ง
ก่อนขึ้นเครื่องนักฟุตบอลไทยทุกคน จะได้รับแจกกระเป๋าเสื้อสีน้ำเงิน, ชุดเบลเซอร์, เสื้อแข่งขันสีขาว, ชุดวอร์ม, รองเท้าแข่งขัน, รองเท้าผ้าใบและถุงเท้าฟุตบอล คนละหนึ่งชุดก่อนออกจากกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 11 โมงเช้าของวันที่ 15 พฤศจิกายน ด้วยเครื่องบินแควนตัสแบบ 4 เครื่องยนต์ของออสเตรเลีย ก่อนแวะทานอาหารที่สิงคโปร์และเมืองดาร์วิน โดยถึงสนามบินเมืองเมลเบิร์น ในเวลา 16.00 น. ของวันต่อมา
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2499 ณ สนามเมืองเมลเบิร์น ฟุตบอลโอลิมปิก รอบสอง ทีมสหราชอาณาจักร (GREAT BRITATN) พบ ทีมชาติไทย ท่ามกลางแฟนลูกหนังชาวออสซี่ (AUSSIE) และทหารเรือชาวอังกฤษ ประมาณกว่า 2,000 คน ในสภาพอากาศหนาว นักเตะแดนสยามต้องอบอุ่นร่างกายกันบริเวณห้องพักนักกีฬา ก่อนลงสนามมีการเสี่ยงโยนเหรียญเพื่อเลือกชุดแข่งขัน เนื่องจากทั้งสองทีมใส่เสื้อสีขาวเหมือนกัน ในขณะที่สมาคมฟุตบอลฯ เตรียมชุดแข่งขันไปเมลเบิร์นเพียงสีเดียวเท่านั้น ผลปรากฏว่าทีมสหราชอาณาจักรได้ใส่สีประจำทีม ส่วนทีมชาติไทยต้องใส่เสื้อสีฟ้า ตามที่คณะกรรมการจัดเตรียมสำรองเอาไว้
นักเตะจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเดินลงสู่สนาม พบทีมจากลุ่มแม่น้ำเทมส์ (THAMES) ในเกมที่กล่าวว่าเสียเปรียบแทบทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องรูปร่างและทักษะการครองบอล มีชาวรัสเซียเป็นกรรมการผู้ตัดสิน ก่อนจะเริ่มเขี่ยลูกเกิดความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย เมื่อกัปตันทีมสหราชอาณาจักรทักทาย วิวัฒน์ มิลินทจินดา หัวหน้าทีมชาติไทย ด้วยการตบศรีษะตามธรรมเนียมของชาติตะวันตก จึงถูกหมัดสวนกลับเข้าไปที่ท้อง แต่เมื่อปรับความเข้าใจกันแล้ว ผู้เล่นทั้งสองต่างก็ได้แต่ยิ้มให้แก่กันอย่างน้ำใจนักกีฬา
เมื่อเปิดเกมการแข่งขัน จนกระทั่งผ่านมาถึง น. 12 อดีตแชมป์เก่า 3 สมัย เริ่มจับทางบอลได้ จึงออกนำไปก่อนอย่างรวดเร็ว 1 - 0 หลังจากนั้น นักเตะสยามเมืองยิ้มแทบจะไม่ได้ครอบครองลูกเลย นอกจากเวลานำบอลมาตั้งเขี่ยเริ่มเกมใหม่กลางสนามเท่านั้น จบครึ่งแรก ทีมชาติไทย 0 ทีมสหราชอาณาจักร 4
ใน 45 นาทีสุดท้าย ทีมสหราชอาณาจักรสามารถเพิ่มสกอร์ได้อีกถึง 5 ประตู ด้วยการโยนบอมบ์ถล่มกลางอากาศตามสูตรถนัดของฟุตบอลเมืองผู้ดี ขณะที่ผู้เล่นธงไตรรงค์เสียเปรียบเรื่องลูกโด่งอยู่แล้ว ส่วนประตูที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่ใช้หัวโหม่งทำสกอร์แทบทั้งสิ้น โดย Laybourne ทำแฮททริกคนเดียว 3 ประตู จังหวะหนึ่งของการเข้าแย่งลูก โสภณ หะยาจันทรา เกิดปะทะกับนักเตะแดนผู้ดีจนกระโหลกศรีษะยุบ หมดเวลาการแข่งขัน ทีมชาติไทย แพ้ ทีมสหราชอาณาจักร 0 - 9 ตกรอบสุดท้ายฟุตบอลโอลิมปิก สำหรับนักเตะ 2 คนของทีมไทยที่ไม่ได้ลงสนาม เนื่องจากอาการบาดเจ็บ คือตุ๊ สุวณิชย์ และนิตย์ ศรียาภัย
26 November 1956 Olympic Park, Melbourne Att: Not Known Ref: Nikolai Latishev (USR) HT: 4 - 0 GREAT BRITAIN 9 (Laybourne 3, Bromilow 2, Twissell 2, Topp, Lewis) THAILAND 0
GB: Sharratt - Stoker, Farrer, Topp - Prince, Dodkins - Lewis, Hardisty, Laybourne, Bromilow, Twissell.
Thailand: Baikam - Suvannasith, Suvaree, Chutimawongse - Hayachanta, Chaiyong - Chitranukroh, Chermudhai, Milinthachinda, Luttimont, Mutugun.
อนึ่ง นักฟุตบอลทีมชาติไทยหลายคน กล่าวยืนยันว่าหัวหน้าทีมชาติอังกฤษชุดโอลิมปิกเมลเบิร์น คือ “บ๊อบบี้ ชาลตัน” ต่อมา กลายเป็นนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ในทศวรรษที่ 60 - 70 ด้วยการชนะเลิศ WORLD CUP ค.ศ. 1966 และครองถ้วย EUROPEAN CUP ค.ศ. 1968 เริ่มอาชีพลูกหนังสังกัดสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (MANCHESTER UNITED) เมื่อ ค.ศ. 1954 และติดทีมชาติชุดใหญ่ ค.ศ. 1958 - 1970 จำนวน 106 ครั้ง และสถิติการทำประตู ระดับชาติ รวม 49 ประตู ปัจจุบันมีบรรดาศักดิ์เป็น เซอร์ บ๊อบบี้ ชาลตัน (SIR BOBBY CHARLTON) แต่ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบรายชื่อในสูจิบัตรการแข่งขันนั้น ผู้เล่นทีมสหราชอาณาจักร ไม่มีชื่อของ “บ๊อบบี้ ชาลตัน” อาจจะเป็นไปได้ว่านักฟุตบอลที่ลงเล่นนั้น มีรูปร่างและลักษณะที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น
หนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2499 พาดหัวข่าวหน้ากีฬาว่า “ทีมชาติอังกฤษเฆี่ยนทีมชาติไทย 9 - 0” ผลการแข่งขันแมตช์ดังกล่าว นับเป็นสถิติแพ้มากที่สุดในเกมระดับชาติของทีมชาติไทย จนถึงปัจจุบัน ส่วนสถิติยิงประตูมากที่สุดของเกมระดับโลก คือวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1951 ทีมชาติอังกฤษ ถล่ม ทีมชาติออสเตรเลีย 17 - 0
หลังจากทีมสหราชอาณาจักรผ่านเข้าสู่รอบสองแล้ว ก็ต้องตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย เมื่อพ่ายแพ้ต่อทีมชาติบัลแกเรีย 1 - 6 (1 - 3) โดยเหรียญทองฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 1956 คือ “ทีมชาติรัสเซีย” ที่มีดาราประจำทีม “เลฟ ยาซิน” (LEV YASHIN) เป็นผู้รักษาประตู ฉายา “ปลาหมึกยักษ์ดำ” ของวงการลูกหนังระดับโลก ในอีก 10 ปีต่อมา WORLD CUP ค.ศ. 1966 ความยิ่งใหญ่ของยาซิน ภายหลังจึงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของรัสเซีย ชั้น “ออร์เดอร์ ออฟ เลนิน” ส่วนเหรียญเงินเป็นของทีมชาติยูโกสโลวาเกีย ในขณะที่ทีมชาติอินเดีย เข้าถึงรอบชิงเหรียญทองแดงฟุตบอลโอลิมปิกเป็นทีมแรกของทวีปเอเชีย แต่แพ้ ทีมชาติบัลแกเรีย 0 - 3 (0 - 2) ครองตำแหน่งที่ 4
แม้ว่าโอลิมปิก ณ เมืองเมลเบิร์น อาจเริ่มพร้อมปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ที่เข้ามาแปดเปื้อนวงการกีฬาโลก แต่สามารถปิดสนามลงได้อย่างน่าประทับใจ เมื่อนักกีฬาต่างลัทธิการปกครองสมัยนั้น “ฮัล คอนเนอรี่” เจ้าเหรียญทองขว้างค้อนชายชาวอเมริกัน กับ “โอลก้า ฟิโคตอฟว่า” เจ้าของเหรียญทองขว้างจักรหญิงชาวเช็ค เกิดพบรักกันและได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลีย ในการวางแผนลักพาตัวโอลก้า หลบหนีออกมาจากหมู่บ้านนักกีฬา แล้วนำคนทั้งสองเข้าสู่พิธีแต่งงาน ณ โบสถ์เมืองเมลเบิร์น
เมื่อนักฟุตบอลทีมชาติไทยกลับถึงแผ่นดินแม่ อีก 3 ปีต่อมา สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงได้ทำการเปิดสอบคัดเลือกผู้ฝึกสอน จนได้ “นายสำรวย ไชยยงค์” (ปัจจุบัน คือพล.ต. สำเริง ไชยยงค์) หนึ่งในนักเตะชุดโอลิมปิก เมลเบิร์น และ “นายฉัตร หรั่งฉายา” เดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเล่นและการเตรียมทีมฟุตบอลหลักสูตรระยะสั้น ณ สปอร์ตชูเล่ย์ (SPORTSCNULE) เมืองโคโลญจน์ (COLONGE) ประเทศเยอรมันตะวันตก เนื่องจากขณะนั้น ทีมอินทรีเหล็กพึ่งประสพความสำเร็จชนะเลิศ WORLD CUP ค.ศ. 1954 ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หรือเรียกกันว่า “มหัศจรรย์แห่งกรุงเบิร์น” (THE MIRACLE OF BERN) เป็นสมัยแรก
ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระปรีชาญาณและพระวิสัยทัศน์อันนำคุณาประโยชน์มาสู่วงการฟุตบอลของประเทศไทย เมื่อทรงมอบทุนส่วนพระองค์ แก่นายสำเริง ไชยยงค์ เพื่อการศึกษาหลักสูตรการอบรมผู้ฝึกสอนฟุตบอลระดับสูง จากสมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ “ปรมาจารย์ฟุตบอลเมืองไทย” จึงเพียรพยายามถ่ายทอดศาสตร์ความรู้ทางวิชาการและวางรากฐานการฝึกเด็กตั้งแต่เยาวชนให้มีเบสิก (BASIC) ฟุตบอลขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการเล่นแบบทีมเวิร์ค (TEAM WORK) จนในปี พ.ศ. 2510 จึงได้ก่อตั้ง “สโมสรราชวิถี” ทีมที่แฟนลูกหนังและสื่อมวลชน ต่างพากันขนานนามว่า “ทีมชาววัง” ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นการเล่นลูกหนังสมัยใหม่ของสโมสรฟุตบอลเมืองไทย
เหตุการณ์และเรื่องราวทั้งหมด คือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ของกีฬาฟุตบอลในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก “เกมส์เกียรติยศ” โอลิมปิก เมลเบิร์น ค.ศ. 1956 ที่ผ่านมานานกว่า 5 ทศวรรษ.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ