Web Analytics
บทความ สนามแห่งตำนานศุภชลาศัย

บทความ เรื่อง "สนามแห่งตำนานศุภชลาศัย"

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 เมื่อ พ.อ. แปลก ขีตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) มอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศฟุตบอลภายในกระทรวงกลาโหมแล้ว ก่อนที่จะเตรียมออกจากสนามหลวง ได้ถูกมือปืนบุกเดี่ยวเข้ายิง แต่เอี่ยวตัวหลบทัน อีก 3 ปีหลังจากนั้น เมื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย จึงได้อนุมัติงบประมาณกว่า 170,000 บาท ตามที่ น.อ.หลวงศุภชลาศัย (บุ้ง ศุภชลาศัย) เสนอเรื่องขึ้นไป เพื่อดำเนินงานสร้าง “สนามกรีฑาสถาน” (National Stadium) ณ บริเวณกรมพลศึกษา ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โดยเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2480 ขั้นตอนแบ่งเป็น 4 ช่วง คือระยะแรก สร้างอัฒจันทร์ด้านสกอร์บอร์ด ระยะที่สอง สร้างอัฒจันทร์ฝั่งที่ประทับ ระยะที่สาม สร้างอัฒจันทร์ตรงข้ามสกอร์บอร์ด และระยะสุดท้าย สร้างอัฒจันทร์ฝั่งกระถางคบเพลิง จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในราว พ.ศ. 2484 มีความจุผู้ชมประมาณ 40,000 คน นับเป็นสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของวงการกีฬาประเทศไทย

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชน ประจำปี 2481 ณ สนามกีฬาสถาน พร้อมทอดพระเนตรฟุตบอล ในวันดังกล่าวด้วย

 

ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2485 สนามกรีฑาสถาน จึงถูกเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ “น.อ.หลวงศุภชลาศัย” อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก นั้นเอง

 

โดยระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้ใช้เป็นกองบัญชาการชั่วคราวในมหาสงครามเอเชียบูรพา จนครั้งหนึ่ง เคยมีผู้เสนอจะขุดหาสมบัติบริเวณใต้พื้นสนามศุภฯ แห่งนี้

 

นับตั้งแต่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอเช่าสนามจากกรมพลศึกษา สำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประจำปี 2488 แล้วนั้น “สนามศุภชลาศัย” จึงกลายเป็นสนามหลัก (Main Stadium) ของสมาคมฟุตบอลฯ และทีมชาติไทย ตลอดมากว่า 6 ทศวรรษ มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น ทั้งรอยยิ้ม และคราบน้ำตา จนกลายเป็นตำนานในความทรงจำของอดีตนักเตะทีมชาติและแฟนลูกหนังชาวไทย ณ สมรภูมิแข้ง แห่งนี้

 

การแข่งขันลูกหนังชิงถ้วยนัดหนึ่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2494 “ไอ้ปืนใหญ่” วิวัฒน์ มิลินทจินดา อดีตหัวหน้าชุดทีมชาติไทยคนแรก ภายหลังเปลี่ยนชื่อจากประเทศ “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” ได้เตะลูกบอลเต็มแรงจนลอยโด่ง ก่อนแฉลบไปถูกรังผึ้งที่บริเวณใต้หลังคาอัฒจันทร์ฝั่งที่ประทับ เป็นเหตุให้ผึ้งฝูงใหญ่แตกฮือตรงเข้าไปต่อยผู้ชมตลอดจนนักฟุตบอลทั้งสนาม กระทั่งผู้ตัดสินต้องเป่ายุติเกมกลางคัน จนเป็นเรื่องเล่าเปื้อนรอยยิ้มเสมอมาของคอบอลยุคนั้น

 

ทีมชาติไทยได้ลงเล่น ณ สนามศุภชลาศัยฯ แมตช์แรก เมื่อใดนั้นไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน นอกจากบทสัมภาษณ์นักฟุตบอลชุดปรี-โอลิมปิก พ.ศ.2498 ที่กล่าวว่า ทีมไทยลงสนามรอบคัดเลือกเสมอกับทีมพม่า และทีมฮ่องกง ก่อนจะชนะผ่านในนัดเยือน จนคว้าสิทธิ์ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ค.ศ.1956 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

 

สำหรับกีฬาระดับชาติรายการแรก ณ สนามศุภชลาศัยฯ คือกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 12–17 ธันวาคม 2502 ในวันปิดสนามฟุตบอลคู่ชิงเหรียญทอง ทีมไทย แพ้ ทีมเวียดนามใต้ 1 – 3 เจ้าถิ่นได้เพียงเหรียญเงิน

 

แมตช์ที่อาจถือได้ว่ายิ่งใหญ่ของทีมไทยกับการลงเล่น ณ สนามศุภฯ คือเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2511 ปรี-โอลิมปิก นัดสุดท้าย หรือเรียกว่า “นัดชิงดำ” ทีมไทย ชนะ ทีมอินโดนีเซีย 2 – 1 ส่งผลให้ได้สิทธิ์ลงสนามรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ค.ศ.1968 ณ ประเทศเม็กซิโก ความสำเร็จในรอบ 12 ปีของนักเตะลุ่มเจ้าพระยา

 

วันที่ 16 ธันวาคม 2518 รอบชิงชนะเลิศกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 8 ทีมไทย ชนะ ทีมมาเลเซีย 2-1 นับเป็นการแชมป์ครั้งแรกบนสนามหญ้าแห่งนี้

 

ส่วนสถิติชนะและแพ้มากที่สุด ในสนามศุภชลาศัยฯ คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2514 เอเชี่ยน คัพ รอบแรก ทีมไทย ถล่ม ทีมบรูไน 10 – 0 และวันที่ 7 สิงหาคม 2518 คิงส์คัพ ครั้งที่ 8 ทีมไทย ปราชัย ทีมเกาหลีใต้ 0 – 6

 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2522 ฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 12 รอบชิงชนะเลิศ ทีมไทย ชนะ ทีมเกาหลีใต้ 1 – 0 เมื่อขึ้นรับเหรียญรางวัลลงมาแล้ว “สิงห์สนามศุภ” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ จึงคว้าไมค์โครโฟนพร้อมประกาศแขวนสตั๊ดในนามทีมธงไตรรงค์กลางสนามศุภฯ ด้วยคราบน้ำตา

 

พื้นดินและยอดหญ้าของสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เคยรองรับสตั๊ดของนักเตะระดับโลกมาแล้ว อาทิ บรู๊ซ ริอ๊อค (อังกฤษ), เปเล่ (บราซิล), คาร์ไฮ รุมเมนิกเก้ (เยอรมัน), มาร์ค ฮิวจ์ส (เวลส์), ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล (เดนมาร์ก), รุด กุลลิท (ฮอลแลนด์), โรแบร์โต บักโจ (อิตาลี) ฯลฯ

 

นอกจากทีมชาติระดับตำนานลูกหนังโลก เช่น ทีมชาติสวีเดน (พ.ศ. 2505, 2540), ทีมชาติเยอรมนี (พ.ศ. 2511), ทีมชาติอังกฤษ (พ.ศ. 2512), ทีมชาติเดนมาร์ก (พ.ศ. 2531, 2532, 2539, 2541, 2551, 2552), ทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ (พ.ศ. 2540) ฯลฯ

 

รวมถึงสโมสรชั้นนำของทั่วโลก คือ สโมสรครูไซโร (บราซิล), สโมสรซาสโต๊ส (บราซิล), สโมสรโคเวทตรี้ (อังกฤษ), สโมสรอาร์เซน่อล (อังกฤษ), สโมสรลิเวอร์พูล (อังกฤษ), สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (อังกฤษ), สโมสรนิวคาสเซิ่ล (อังกฤษ), สโมสรเชลซี (อังกฤษ), สโมสรบาเยิร์น มิวนิค (เยอรมัน), สโมสรเลเวอร์คูเซ่น (เยอรมัน), สโมสรแฮร์ธ่า เบอร์ลิน (เยอรมัน), สโมสรเอสปันญ่อล (สเปน), สโมสรโบคา จูเนียร์ส (อาร์เจนติน่า)

 

ในปัจจุบันนี้ “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” กำลังจะกลายสภาพเป็นสนามแห่งความทรงจำ ทว่าตำนาน “เวมบลีย์เมืองไทย” ยังคงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แสดงความสำเร็จของยุครุ่งเรืองฟุตบอลเมืองไทย เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ