Web Analytics
บทความ รถด่วนเมืองละโว้ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค

บทความ เรื่อง "รถด่วนเมืองละโว้" อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค

 

ในจำนวนนับพันกว่าประตู ที่บรรดานักเตะทีมชาติไทย สามารถพาลูกเข้าไปซุกก้นตาข่ายฝ่ายตรงข้ามได้นั้น มีอยู่เพียง 1 ลูก ซึ่งอาจจะ ถือว่าเป็นประตูประวัติศาสตร์ของทีมลูกหนังจากแดนสยาม ที่ถูกบันทึกไว้ กับวงการฟุตบอลระดับโลก เพราะเกิดขึ้น ณ สนามกีฬาโอลิมปิก เมื่อ 31 ปี ก่อน ด้วยฝีเท้าของ "รถด่วนเมืองละโว้"

 

อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค เป็นชาวจังหวัดลพบุรี เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ภายหลังจบมัธยมศึกษาตอนต้นจากบ้านเกิด จึงเดินทางเข้า มาเรียนต่อที่เมืองหลวง แต่การสอบไม่ติด ม. 4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำให้ต้องเลือกเรียนสายอาชีพแทนสายสามัญ จนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง (ปวส.) ที่โรงเรียนกิตติพาณิชย์

 

บนเส้นทางถนนลูกหนัง อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค เริ่มเล่นมาตั้งแต่อยู่เมืองละโว้ จนได้ติดทีมตัว แทนของจังหวัดลงแข่งขันกับจังหวัดใกล้เคียงอยู่เสมอ โดยนัดแรกของการสงสนามทีมลพบุรีชนะทีมอยุธยา 2 - 1 เมื่อเข้ามากรุงเทพฯ จึงได้สวมเสื้อทีมโรงเรียนกิตติพาณิชย์ชุดคว้าถ้วยนักเรียนประเภทอาชีวศึกษาของกรมพลศึกษา ประมาณ พ.ศ. 2504 ในสมัยนั้น ถือเป็นรายการสำคัญที่จะคว้านหาช้างเผือก เพื่อนำมาฝึกฝนขึ้นสู่ฟุตบอลระดับถ้วย พระราชทาน ต่อไป

 

ในปี พ.ศ. 2505 นายบุญชู โรจนเสถียร นายกสโมสรธนาคารกรุงเทพ และอ.สำเริง ไชยยงค์ ผู้ฝึก สอนของทีม มีนโยบายหลักที่จะสร้างทีมจากนักเตะระดับเยาวชน อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูก คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้พร้อมเพื่อนเยาวชน เช่น เกรียงศักดิ์ นุ(กระผม)ลสมปรารถนา, ชัชชัย พหลแพทย์, จีระวัฒน์ พิมพะวาทิน, สราวุธ ประทีปากรชัย ฯลฯ และทั้งหมดกลายเป็นกำลังหลักสำคัญของทีมชาติไทยในเวลาต่อมา

 

ทีมเด็กสร้างของบัวหลวงประสบความสำเร็จอย่างมากมาย จนกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนัง เยาวชน ด้วยการครองแชมป์ฟุตบอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย 2 สมัย (พ.ศ. 2506, 2507) และรองชนะเลิศ 3 สมัย (พ.ศ. 2508, 2509, 2510) เมื่อ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ก้าวขึ้นชุดใหญ่ของสโมสรธนาคารกรุงเทพยังสามารถ ช่วยให้ทีมชนะเลิศถ้วย ก อีก 2 ปีซ้อน (พ.ศ. 2509, 2510)

 

อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ได้รับการคัดเลือกให้ติดทีมชาติไทยครั้งแรก ในรายการเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2509) แต่ส่วนใหญ่แล้วคงต้องนั่งเป็นเพียงตัวสำรองของกองหน้ารุ่นพี่อย่าง ยรรยง ณ หนองคาย, ประเดิม ม่วงเกษม และอัษฎางค์ ปาณิกบุตร

 

กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ฟุตบอลรอบแรก ทีมไทยชนะทีม มาเลเซีย 4 - 0 อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค จึงสามารถทำประตูแรกและเป็นการยิงแบบแฮตทริก 3 ประตู ในนามทีม ชาติชุดใหญ่ได้สำเร็จ

 

พลเอก ประเทียบ เทศวิศาล อดีตโค้ชทีมชาติไทยปัจจุบันมีอายุ 74 ปี กล่าวถึงรถด่วนเมืองละโว้ว่า "อุดมศิลป์ เป็นศูนย์หน้าที่ตัวสูงใหญ่สามารถเล่นลูกโหม่งได้ดี มีความรับผิดชอบในการฝึกซ้อม และเข้ากับเพื่อน ร่วมทีมได้อย่างไม่มีปัญหา"

 

ในช่วงการติดธงไตรรงค์ที่หน้าอกเสื้อ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาคได้ตระเวณลงเล่นทัวร์นาเม้นต์ สำคัญของยุคนั้นเกือบทุกรายการ เช่น ฟุตบอลแหลมทอง, ฉลองเอกราชเวียดนามใต้ และเมอร์เดก้าที่มาเลเซีย แม้ว่า จะไม่เคยประสบความสำเร็จ ด้วยการคว้าแชมป์ระดับชาติร่วมกับทีมชาติไทยเลย แต่การเป็นหนึ่งในขุนพลทีมชาติ ไทยชุดโอลิมปิก ณ ประเทศเม็กซิโก คือเกียรติประวัติสูงสุด เพราะนอกจากฟุตบอลโลกแล้ว ฟุตบอลโอลิมปิกนับ เป็นอีกทัวร์นาเม้นต์เกียรติยศ และความใฝ่ฝันของบรรดานักเตะทั่วโลก

 

โดยก่อนจะผ่านเข้าไปเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2511 ในฟุตบอลปรี-โอลิมปิก รอบคัดเลือก ทีมไทยชนะทีมอินโดนีเซีย 1 - 0 อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค คือคนยิงประตูชัยช่วยให้นักเตะจากแดนสยามเก็บแต้มสำคัญเฉือนอิเหนาเจ้าเล่ห์มุ่งทัพสู่ถิ่นจังโก้ทันที

 

กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 (ค.ศ. 1968) ทีมไทยจับสลากได้อยู่ในสาย D ประกอบด้วยทีมชาติเชโกส โลวะเกีย, บัลแกเรีย และกัวเตมาลา ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เม็กซิกันลงบท สัมภาษณ์นักเตะกำลังสำคัญของทีมไทยรวมถึง อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ขณะที่นักฟุตบอลไทยลงซ้อมกันที่สนาม โซชิมิลโก ดีพอร์ติโว ร่วมกับทีมชาติฝรั่งเศส, บราซิล และเม็กซิโก

 

แมตช์แรก วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ณ สนามเมืองกัวดาฮาร่า ทีมชาติไทยแพ้ทีมชาติบัลแกเรีย 0 - 7 (0 - 1) มีผลให้นัดหน้า ทีมไทยจะพลาดอีกไม่ได้เลย ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ณ สนามเมืองกัวดาฮาร่า ทีมชาติไทยลงสนามพบทีมชาติกัวเตมาลา ผลงานนัดแรกของ "ม้ามืด" กัวเตมาลาพลิกชนะทีมเชสโลวะเกีย 1 - 0 ดังนั้น เกมนี้ จึงเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นและเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับแลกกันอย่างน่าดู มีการเข้าปะทะกันหนัก ๆ หลายครั้งหลายหน ท่ามกลางอากาศร้อนระอุของทวีปอเมริกากลาง เมลการ์ ก็ยิงให้กัวเต มาลา ขึ้นนำก่อน 1 - 0

 

แต่ขุนพลนักเตะลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงทำเกมบุกหมายจะทวงประตูคืน จนกระทั่งใกล้หมดเวลาการ แข่งขัน น. 44 บุญเลิศ นิลภิรมย์ หรือฉายา "ปีกปีศาจ" ได้จังหวะกระชากลูกหลุดหนีตัวประกบและส่งให้ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ลากบอลเข้าไปยิงกระแทกตาข่ายอย่างงดงาม ทีมไทยตีเสมอสำเร็จ 1 - 1 โดยช่วง 45 นาทีของครึ่ง หลัง ผู้เล่นกัวเตมาลาได้เปรียบสภาพภูมิอากาศ จึงโหมบุกกระหน่ำแบบต่อเนื่อง นักเตะไทยเริ่มอ่อนล้า เนื่องจากครึ่งแรกเปิดเกมรุกมากเกินไป ทำให้ต้องพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด 1 - 4 เป็นผลให้ตกรอบแรก ส่วนนัดสุดท้ายวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ทีมชาติไทยแพ้ทีมชาติเชสโลวะเกีย 0 - 8 อีกเช่นกัน

 

ถึงแม้ทีมไทยจะทำได้เพียงเท่านั้น แต่ 1 ลูกที่ยิงได้คงอยู่ในประตูแห่งความทรงจำและบันทึกหน้า หนึ่งของฟุตบอลโอลิมปิก ที่จะต้องปรากฏชื่อของยอดศูนย์หน้าผู้ยิงประตูประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทย อันนำมา ซึ่งความภาคภูมิใจของแฟนลูกหนังชาวไทยสมัยนั้น นอกจากนี้ยังเป็นการยิงประตูสุดท้ายลูกที่ 11 (พ.ศ. 2509 - 2511) ของอุดมศิลป์ สอนบุตรนาค เพราะเขาตัดสินใจไม่กลับมาพร้อมกับเพื่อนร่วมทีม แต่บินตรงไปศึกษาต่อ ณ แผ่นดินแห่งโอกาสและอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ตราบจนถึงปัจจุบัน

 

คงเหลือทิ้งไว้เพียงแค่คำนิยามที่กล่าวว่า สถิติถูกสร้างขึ้นเพื่อการถูกทดแทนด้วยสถิติที่ดีกว่าเดิม คือสัจธรรมแห่งความเป็นจริง แฟนฟุตบอลบ้านเราคงจะได้เห็นการทำประตูที่จะต้องยิ่งใหญ่กว่าของทีมชาติไทยใน "ฟุตบอลโลก".

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ