Web Analytics
บทความ 45 วัน ทีมชาติไทยที่ทวีปยุโรป

บทความ เรื่อง “45 วัน ทีมชาติไทยที่ทวีปยุโรป"

 

เมื่อ 47 ปีที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฯ ได้มีนโยบายจะพัฒนามาตรฐานเทคนิคการเล่นของนักเตะทีมชาติไทยให้ทัดเทียมชาติเอเชีย จึงขอความร่วมมือไปยังสมาคมฟุตบอลแห่งสหพันธ์รัฐเยอรมัน เพื่อนำทีมไปเก็บตัวฝึกซ้อม ณ สปอร์ตชูเล่ (Sportscyule) เมืองดุ๊ยส์บวร์ก (Duisburg) ในแคว้นนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย (North Rhine Westphalia) แถบลุ่มแม่น้ำไรน์ สถาบันด้านการกีฬาที่มีชื่อเสียง (ก่อตั้ง ค.ศ. 1928)

 

หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ของมาเลเซีย ตีพิมพ์ข่าวนี้ว่า

 

“...ทีมฟุตบอลไทยจะเป็นอีกทีมหนึ่งที่แข็งแกร่งของภูมิภาคนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่ไทยส่งนักเตะและเจ้าหน้าที่ จำนวน 20 คน ตระเวนแข่งขันหาประสบการณ์ในแถบทวีปยุโรปและเอเชีย คือเยอรมัน, เดนมาร์ก, สวีเดน, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์ และอิสราเอล…”

 

และหนังสือสถิติของสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ยังได้ลงบทความเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้เช่นกัน ก่อนขึ้นเครื่องบินสู่ทวีปยุโรป เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2508 พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล ผู้จัดการทีมกล่าวว่า

 

“พวกเราจะนึกถึงชื่อเสียงของประเทศชาติ เป็นอันดับแรก เรื่องแพ้ในสนามแต่ชนะใจคนดู ยังดีกว่าชนะในสนามแต่แพ้ใจคนดู”

 

การฝึกซ้อมใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ โดยมีโปรแกรมการแข่งขันตามเมืองต่างๆ ของเยอรมัน ในช่วงแรกเก็บตัวอยู่ที่เมืองดุ๊ยส์บวร์ก ต่อมาไปพักที่บาร์ซิงเฮาร์เซ่นใกล้เมืองฮันโนเวอร์ (Hannover) ผู้ควบคุมทีมและดำเนินการฝึกสอน คือ มร.ไฮน์ มูลัค ชาวเยอรมนี ในขณะที่เมืองไทย มรว.แหลมฉาน หัสดินทร ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ เนื่องจากต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด เรื่องการประสานงานกับสมาคมฟุตบอลของสวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ทำให้นักเตะธงไตรรงค์ต้องฝึกซ้อมในเยอรมันเพียงประเทศเดียว นานเกือบ 2 เดือน

 

โดยมีผลการลงสนามแข่งขันฟุตบอลเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมทั้งสิ้น 12 นัด ดังนี้

 

แมทช์แรก วันที่ 15 พฤษภาคม 2508 ณ สนามเมืองซีเก้นท์ (Siegen) ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติเยอรมันตะวันตกชุดสมัครเล่น เป็นเกมส์แรกของทั้งสองชาติ ท่ามกลางผู้เข้าชมประมาณ 8,000 คน โดยมีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ของเยอรมัน นักเตะไทยเล่นกันได้ดีเป็นทีมเวิร์ก แต่กองหน้ายังขาดจังหวะปิดสกอร์ ผู้เล่นเจ้าถิ่นจึงใช้ชั้นเชิงและเทคนิคที่เหนือกว่า สามารถยิงนำไปก่อนจากฝีเท้าของ เซคเตล มาร์เออร์ น. 1 และนิวเซียร์ น. 6 ครึ่งแรกสกอร์ 2-0

 

ครึ่งหลังนายทวารของทีมไทย อัศวิน ธงอินเนตร ต้องออกแรงป้องกันประตูอย่างหนัก แต่ เซคเตล มาร์เออร์ ก็ยิงได้อีก น. 57 เป็น 3-0 เมื่อออกนำห่างทีมอินทรีเหล็กจึงเพลาการบุกลง น. 62 นักเตะทีมเยือนซัลโวคืนได้จาก วิชิต แย้มบุญเรือง 1-3 แต่ฮิมเมลเมนท์ ก็ซัลโวนำห่างออกไปอีก น. 78 เป็น 4-1 ก่อนหมดเวลาการแข่งขัน ทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ยิงไล่ตามขึ้นมาอีกหนึ่งลูก ทีมไทย แพ้ ทีมเยอรมัน 2-4

 

ภายในงานเลี้ยงรับรอง ณ ซีเก้นท์เบิร์ก โฮเต็ล โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองซีเก้นท์ เป็นประธาน พร้อมด้วยฝ่ายเยอรมันมี ดร.กราสมันท์ นายกสมาคม, มร.ฟาสแล็ก เลขาธิการ และผู้ตัดสินชาวเบลเยียม ส่วนฝ่ายไทยมีท่านทูต ดร.ดิเรก ชัยนาม เข้าร่วมเป็นเกียรติ ในโอกาสนั้น ดร.กราสมันท์ กล่าวชื่นชมความสามารถของนักเตะทีมชาติไทยท่ามกลางเสียงปรบมือ

 

วันที่ 18 พฤษภาคม 2508 ณ สนามเมืองเบอร์เก้น (Bergen) ทีมชาติไทย พบ ทีมชาตินอร์เวย์ แฟนลูกหนังรอบสนามกว่า 10,000 คน ก่อนการแข่งขันนัดนี้ ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก (ค.ศ. 1965) ทีมนอร์เวย์ ชนะ ทีมลักเซมเบอร์ก 2-0 และแพ้ ทีมฝรั่งเศส 0-1 ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวในรอบ 27 ปี ทีมไทยสามารถต้านทานได้เพียง 25 นาที จึงพลาดเสียประตู 0-1 หลังจากสกอร์นี้ นักเตะลุ่มเจ้าพระยาต้องถอยทัพลงมาตั้งรับการบุกหนักของผู้เล่นเจ้าถิ่นดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน ใน

 

ช่วง 45 นาทีของครึ่งหลังทีมเยือนต้องเสียเพิ่มอีกถึง 6 ประตู ขณะที่ระหว่างเกมได้มีฝนและลูกเห็บตกลงมาเป็นระยะ ทำให้พื้นสนามลื่นมากขึ้นกว่าเดิม นับเป็นครั้งแรกของทีมไทยที่ต้องลงเล่นในสนามที่มีอุณหภูมิศูนย์องศา เมื่อหมด 90 นาที ทีมไทย แพ้ ทีมนอร์เวย์ 0-7 ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศเยอรมันเช่นเดิม

 

วันที่ 23 พฤษภาคม 2508 สนามเมืองเคลเว่ล์ (Kieve) ทีมชาติไทย พบ สโมสรเคลเว่ล์ไรน์ ( Kieve Rhine) ทีมจากบุนเดสลีกาขณะนั้นแฟนฟุตบอล 5,000 กว่าคน ทีมไทยชนะแมตช์แรก 1 – 0 (1 – 0) ได้ประตูจากทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา

 

วันที่ 27 พฤษภาคม 2508 สนามเมืองเครเฟลด์ (Krefeld) ทีมชาติไทย พบ ทีมเครเฟลด์ (กึ่งอาชีพ) ผู้ชมกว่า 8,000 คน ทีมไทยชนะอย่างหวุดหวิด 3 – 2 (0 – 0) ทีมไทยได้ประตูจากยรรยง ณ หนองคาย, สุพจน์ พานิช และวิชิต แย้มบุญเรือง

 

วันที่ 29 พฤษภาคม 2508 สนามเมืองเอสเซน (Essen) ทีมชาติไทย พบ สโมสรเคลเว่ล์ไรน์อีกครั้ง นักเตะเยอรมันต้องการจะพิสูจน์ฝีเท้าหลังปราชัยนักแรก 0 – 1 ผลปรากฏว่าทีมไทยแพ้สโมสรเคลเว่ล์ไรน์ 1 – 2 (1 – 2) ทีมไทยได้สกอร์จากยรรยง ณ หนองคาย

 

วันที่ 1 มิถุนายน 2508 ทีมชาติไทย พบ ทีมเวลแบร์ต (กึ่งอาชีพ) ท่ามกลางผู้ชมราว 3,000 คน ทีมไทยแพ้เวลแบร์ต 1 – 4 (1 – 4) ทีมไทยได้ประตูจากยรรยง นิลภิรมย์

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2508 ณ สนามสปอร์ตคลับ เมืองโคโลญจน์ ทีมชาติไทย พบ สโมสรโคโลญจน์ (F.C. Cologne) รองแชมป์บุนเดสลีกา (Bundeslige) ปีล่าสุด ค.ศ. 1964 – 1965 แฟนฟุตบอลเมืองเบียร์ 2,000 กว่าคน ทีมไทยพ่ายสโมสรโคโลญจน์ 0 – 3 (0 – 0)

 

วันที่ 5 มิถุนายน 2508 สนามเมืองเกรเวนบอร์ก ทีมชาติไทย พบ สโมสรเกรเวนบอร์ก (Gverenbroich) ทีมชนะเลิศลีกา 2 ฤดูกาล 1965 – 1966 ทีมไทยชนะสโมสรเกรเวนบอร์ก 1 – 0 (1 – 0) ได้ประตูจากยรรยง ณ หนองคาย

 

วันที่ 8 มิถุนายน 2508 สนามเมืองกอต์ททิงเก้น (Gottingen) ทีมชาติไทย พบ ทีมไรน์เดอร์ ซาเซ่นคลับ 05 (ทีมกึ่งอาชีพ อันดับ 5 ทางตอนเหนือ) ทีมไทยชนะทีมไรน์เดอร์ฯ 3 – 1 (2 – 0) ทีมไทยได้สกอร์จากยรรยง ณ หนองคาย , ทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา และเฉลิม โยนส์

 

วันที่ 12 มิถุนายน 2508 ทีมชาติไทย พบ สโมสรโวล์ฟสบวร์ก (V.F.L.Wolfsburg) ทีมชั้นนำของลีกา 2 ขณะนั้น ทีมไทยเสมอนัดแรก 1 – 1 (1 – 0) ทีมไทยได้ประตูจากอัษฎางค์ ปาณิกบุตร

 

วันที่ 15 มิถุนายน 2508 สนามเมืองบราวซไวก์ ทีมชาติไทย พบ ทีมบราวซไวก์ การลงสนามนัดสุดท้ายในประเทศเยอรมัน ทีมไทยแพ้ทีมบราวซไวก์ 1 – 2 (1 – 0)

 

วันที่ 17 มิถุนายน 2508 ณ สนามเมืองเทลอาวีฟ (Tel Aviv-Jaffa) ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติอิสราเอล เป็นการเล่นนัดกระชับมิตร ครึ่งแรกเสมอกันอยู่ 1 – 1 ทีมไทยได้จากณรงค์ สังขสุวรรณ์ ในครึ่งหลังทีมยักษ์ขาวแห่งเอเชียยิงเพิ่มอีก 1 ประตู ทีมไทยพ่ายอย่างหวุดหวิด ก่อนกลับมาตุภูมิ 1 – 2

 

ทีมชาติไทยชุดอบรมการเล่นฟุตบอล ณ ประเทศเยอรมันตะวันตกกลับถึงสนามบินดอนเมืองวันที่ 22 มิถุนายน 2508 หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในแผ่นดินยุโรป 45 วัน และตระเวนแข่งขันถึง 3 ประเทศ คือเยอรมัน นอร์เวย์ และอิสราเอล โดยมีผลการลงสนาม 12 นัด ชนะ 4 เสมอ 1 แพ้ 7 ได้ 15 ประตู และเสีย 28 ประตู

 

พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล (ปัจจุบันยศพลเอก) ผู้จัดการทีมกล่าวว่า

 

“ทีมไทยประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะหากเปรียบเทียบกับทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งไม่เคยชนะทีมใดได้เลย (ญี่ปุ่นไปฝึกที่เยอรมัน พ.ศ. 2505, 2507) แต่ทีมไทยยังสามารถเอาชนะทีมสโมสรของเยอรมันได้บ้าง ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากชาวเยอรมันที่แสดงต่อนักฟุตบอลไทยในสนามของแต่ละเมือง ส่วนทีมไทยเรานั้นจะต้องเพิ่มด้านพละกำลังและแรงปะทะ”

 

มร.เดทท์มาร์ กราเมอร์ (Mr.Dettmer Gramer) ผู้ฝึกสอนทีมชาติเยอรมันกล่าวภายหลังนัดแรกของทีมไทย ณ สนามเมืองซิเก้นท์ ว่า นักฟุตบอลของไทยมีเบสิกพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว หากแต่ควรฝึกประสบการณ์ในสนามแข่งขันระดับชาติให้มากกว่านี้ เท่านั้นเอง

 

นักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดดังกล่าว จำนวน 18 คน คือ อัศวิน ธงอินเนตร, เล็ก อมฤตานนท์, พิชัย สาลักษณ์, เฉลิม โยนส์, สุพจน์ พานิช, ยงยุทธ สังขโกวิท, อนันต์ คงเจริญ, ไพศาล บุพพศิริ, ณรงค์ สังขสุวรรณ์, สมพล ฆารไสว, อนุรัฐ ณ นคร, ประเดิม ม่วงเกษม, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, ทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ยรรยง ณ หนองคาย, ยรรยง นิลภิรมย์, วิชิต แย้มบุญเรือง และชลอ สัตยาลักษณ์ โดย พ.อ.ประเทียบ เทศวิศาล เป็นผู้จัดการทีม และนายพิสิษฐ์ งามพานิช เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม

 

หลังจากการการเดินทางครั้งนั้นแล้ว ทีมชาติไทยยังไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างเป็นทางการที่ได้รับการต้อนรับจากสมาคมฟุตบอลของประเทศในยุโรปเช่นนั้นอีกเลย จนปัจจุบัน.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ