บทความ เรื่อง “ราชแพทยาลัย” มหาอำนาจหมากเตะ
“แต่วัน แต่วัน ไปดูแข่งขันชิงฟุตบอลถ้วยทอง ถ้วยทองเป็นของพระราชะ ถ้าใครชนะได้รับ
ฯ ถ้วยทอง”
เพลงเชียร์ของนักเรียนแพทย์ เมื่อ 95 ปีที่ผ่านมา ในปีดังกล่าว สโมสรนักเรียนแพทย์เสือป่า ซึ่งมีแพทย์ฝึกหัดจำนวน 6 คน เป็นผู้เล่นอยู่ในทีมสามารถฝ่าดงแข้งนักเลงฟุตบอลเมืองสยาม กว่า 10 สโมสร จนคว้าถ้วยทองของหลวงสำเร็จเป็นสมัยแรก หากแต่วงการหมากเตะยุคนั้นแล้ว “ราชแพทยาลัย” คือมหาอำนาจของยุคทองฟุตบอลเมืองสยาม
“ราชแพทยาลัย” กำเนิดขึ้น รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้ง ณ โรงศิริราชพยาบาล เดิมชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” (พ.ศ. 2432) เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกของโรงเรียนแพทย์ จึงได้พระราชทานนามใหม่ ว่า "โรงเรียนราชแพทยาลัย"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จึงได้รวมเข้าเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์ฯ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2460 โดยใช้ชื่อว่า "คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ภายหลังจึงแยกออกมาและเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล" ต่อมา จึงสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” (พ.ศ. 2486) และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อเดิม เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล”
แต่ในช่วงต้นแผ่นดิน “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” แล้ว ราษฎรต่างรู้จักนักเรียนแพทย์ในฐานะของนักเลงฟุตบอล เนื่องจากภายหลังเลิกเรียนวิชาการทางแพทย์ เหล่าคุณหมอทั้งหลายจะขึ้นเรือข้ามฝากจากฝั่งธน มายังฝั่งพระนคร เพื่อฝึกซ้อมและเล่นฟุตบอล ในยุคที่ฟุตบอล คือ “กีฬาของสมัยนิยม”
โดยสโมสรราชแพทยาลัย ในชุดประจำทีมสีขาวพร้อมมีกากบาทสีแดงอยู่กลางเสื้อแข่งขัน จะประสบความสำเร็จชนะเลิศฟุตบอลชิงโล่ห์ของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2452 และครองแชมป์โล่พระยา วิสุทธสุรยศักด์ (มล.เปีย มาลากุล ณ อยุธยา) รวม 3 สมัย (พ.ศ. 2452, 2454, 2455)
“…ทีมฟุตบอลราชวิทยาลัยอยู่ในชั้นแนวหน้า เคยชิงถ้วยของกระทรวงศึกษาธิการกับโรงเรียนต่าง ๆ ได้ครองถ้วย 2 ปีติดต่อกัน อีกปีเดียวจะได้ถ้วยเป็นกรรมสิทธิ์ บังเอิญมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ซึ่งเวลานั้นชื่อโรงเรียนแพทย์ แย่งเอาไปได้…” (หนังสือประวัติโรงเรียนราชวิทยาลัย/8 มกราคม 2509)
เมื่อมีการคัดเลือกนักเลงฟุตบอลจากรายการชิงโล่ของกรมศึกษาธิการ และถ้วยทองของหลวง เพื่อเป็นผู้แทนของชาติในการแข่งขันระหว่างชาติเป็นครั้งแรกของทีมชาติไทย วันที่ 23 พฤศจิกายน 2458 ปรากฎว่ามีนักเรียนแพทย์ติดทีมชาติในนาม “คณะฟุตบอลสยาม” มากที่สุด จำนวน 4 คน คือ นายแถม ประภาสะวัต (หลวงกายวิภาคบรรยาย), นายศรีนวล (ศุภชัย) มโนหรทัต (มหาดเล็กหลวง), นายต๋อ ศุกระศร (หลวงวิวัฒน์สรรพคุณ) และนายกิมฮวด (วัฒน์) วณิชยจินดา (ขุนวิศาลเวชกิจ) และชุดต่อมา มีนายอู๋ พรรธนะแพทย์ (พระยาพณิชยศาสตร์วิธาน) นายบุญชู ศรีตะจิตต์ (พระเชฏฐ์ไวยากร) ฯลฯ
ปีถัดมา สโมสรราชแพทยาลัยได้เข้าชิงชัยในฟุตบอลถ้วยทองนักรบ ณ สนามเสือป่าพระราชวังสนามจันทร์ มลฑลนครไชยศรี ในนาม “สโมสรกรมนักเรียนแพทย์เสือป่า” ชนะเลิศรวม 2 สมัย (พ.ศ. 2459, 2460) ก่อนนิสิตแพทย์จำนวน 8 คน จะช่วยให้ “จุฬาลงกรณ์ฟุตบอลสโมสร” ได้ครองถ้วยพระราชทาน ถ้วยใหญ่ ประจำปี 2463 เป็นครั้งแรกและสมัยเดียวของทีมตราพระเกี้ยว อีกด้วยเช่นกัน
“…พวกเราพร้อมใจกันหัด และซ้อมอย่างบุกดาบหน้า และไม่ลืม “ฟุตบ่มแข้ง” ของเราซึ่งซ้อมไว้ได้กำลังเพิ่มขึ้นจากนักเรียนชุด พ.ศ. 2460 ตั้ง 7 คน ซึ่งเป็นปีแพทย์ฝึกหัดของเขา เรารวมกำลังแรง พร้อมทั้งจิตใจ วิ่งอย่างไม่กลัวเหนื่อย ต้องรักษาชื่อเสียงไว้อย่างปีเก่า ผลที่สุดถ้วยทองหลวง ปี 2560 ก็คงอยู่ที่เก่า ณ กรมนักเรียนแพทย์เสือป่าอีกครั้งหนึ่ง…” (หนังสือประวัติแพทย์ 2459 ของหลวงกายวิภาคบรรยาย/พ.ศ. 2482)
ในปัจจุบัน ภาพเก่าต้นฉบับของ “สโมสรราชแพทยาลัย” (พ.ศ. 2459) ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราช และภาพ “จุฬาลงกรณ์ฟุตบอลสโมสร” (พ.ศ. 2463) ณ พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม ยังคงแสดงให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่…ของสุภาพบุรุษนักเลงฟุตบอลราชแพทยาลัย ตำนานที่อาจไม่มีวันหวนกลับคืน.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ