Web Analytics
บทความ ถ้วยพระราชคิงส์คัพ 2519

บทความ เรื่อง "ถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ 2519"

 

ในปัจจุบันทัวร์นาเม้นต์หนึ่งของทวีปเอเชีย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 43 ปี คือ การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลแก่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เพื่อมอบให้ทีมชนะเลิศนำไปครอบครองเป็นเวลา 1 ปี

 

ฟุตบอลคิงส์คัพ รายการที่ 5 ของวงการลูกหนังเอเชีย นับแต่ศึกฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์ (พ.ศ.2491-ปัจจุบัน), เอเชี่ยนคัพ (พ.ศ.2499-ปัจจุบัน), เมอร์เดก้าของมาเลเซีย (พ.ศ.2500-ปัจจุบัน) และฉลองเอกราชของเวียดนามใต้ (พ.ศ.2501-2514) ต่อมา หลังจากปี 2514 จึงมีทัวร์นาเม้นต์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ปัค จุง ฮี คัพ (เพสซิเด้นท์คัพ) ที่เกาหลีใต้, เปรสต้า สุกาน ที่สิงคโปร์, อินดิเพนเด้นท์คัพ ที่อินโดนีเซีย, แจแปน คัพ (กิรินคัพ) ที่ญี่ปุ่น ฯลฯ จนกระทั่งสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC.) ต้องกำหนดแนวนโยบายให้มีแค่รายการหลักและควบคุมมาตรฐานการแข่งขันทุกทัวร์นาเมนท์ให้จัด 2 ปีต่อครั้ง จึงทำให้บางรายการต้องเลิกจัดลงไป คงมีแต่ “คิงส์คัพ” ของไทย ที่ยังจัดเป็นประจำทุกปีจนมาถึงปัจจุบันนี้

 

การแข่งขันลูกหนังชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ (KIKG’S CUP) เริ่มครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2511 เนื่องจาก “ลุงต่อ” พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฯ และสภากรรมการมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงลงมติให้จัดการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติ โดยยึดหลักแนวทางสำคัญ 5 ข้อ คือ เทิดทูนพระเกียรติยศ, สร้างสัมพันธภาพระหว่างประเทศ, ยกมาตรฐานการเล่นฟุตบอล, เผยแพร่ความนิยมและทูลเกล้าถวายรายได้โดยเสด็จพระราชกุศล

 

รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 1 ทีมชาติอินโดนีเซีย ชนะ ทีมชาติพม่า 1-0 คว้าถ้วยคิงส์คัพไปครองเป็นชาติแรก ต่อมา ทีมชาติเกาหลีใต้ (พ.ศ.2512, 2513, 2514, 2516, 2517, 2518) และทีมชาติมาเลเซีย (พ.ศ.2515) จะชนะเลิศรายการนี้ตามลำดับ สำหรับทีมชาติไทยทำได้ดีที่สุด คือผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายเกือบทุกสมัย มีแค่ ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2512) เท่านั้น เมื่อต้องปราชัยต่อทีมชาติลาว 3-4 แล้วตกรอบแรก จนมาถึงคิงส์คัพ ครั้งที่ 9 ในปี พ.ศ.2519

 

ทีมชาติไทยชุดเอ (คิงส์คัพ พ.ศ.2519) จำนวน 17 คน คือ ผู้รักษาประตู ไชยวัฒน์ พรหมมัญ, เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ กองหลัง พัลลภ มะกล่ำทอง (หัวหน้าชุด), ชายน้อย สงเคราะห์, ศุภฤกษ์ ชีวะบุตร, อำนาจ เฉลิมชวลิต, จำเริญ คำนิล กองกลาง ไพศาล มีอำพัน, กิตติชัย เหล่าเกื้อกูลพงษ์, สุรพล ธรรมสุจริต, สุรศักดิ์ ตัณฑดิลก, วิทยา เลาหกุล กองหน้า สุรินทร์ เข็มเงิน, สมพร จรรยาวิสูตร, เชิดศักดิ์ ชัยบุตร, เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง และวีระยุทธ สวัสดี มี พ.ต.ท.ยรรยง ณ หนองคาย เป็นโค้ช นายแถมสิน รัตนพันธ์ เป็นผู้จัดการทีม

 

ทีมชาติไทยชุดบี (คิงส์คัพ พ.ศ. 2519) จำนวน 17 คน คือ ผู้รักษาประตู วศิน มาศพงษ์, พุทธิลักธิ์ เอี่ยมพิทักษ์ กองหลัง ธวัชชัย อ่วมขาว, ธวัชชัย ศรีอภัย, กิตติโชค ภูมิวัฒนะ, ทวี โลหะวิจารณ์, ประพล พงษ์พานิช กองกลาง กวิน คเชนทร์เดชา, ชาญวิทย์ ผลชีวิน, อดุลย์ นิลธิรังค์, โสภณ กิจผลิต, สุทธิพงษ์ โกษากุล กองกลาง บัณฑิตย์ โสถิโยธิน, พงษ์ศักดิ์ สุขจิตต์, ดาวยศ ดารา, พิชัย คงศรี และบุญเลิศ เอี่ยวเจริญ (หัวหน้าทีม) มีนายประวิทย์ ไชยสาม เป็นโค้ช น.ต.สมคิด ชิตประสงค์ เป็นผู้จัดการทีม

 

การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 15-25 ธันวาคม 2519 มีชาติเอเชียร่วมทัวร์นาเม้นต์ รวม 5 ชาติ “นายกพันมือ” พ.อ.อนุ รมยานนท์ นายกสมาคมฯ ได้ส่งทีมเจ้าบ้านเข้าแข่งขัน 2 ชุด คือทีมเอ และทีมบี แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สาย A มีทีมชาติเกาหลีใต้ (แชมป์เก่า), ทีมชาติสิงคโปร์ และทีมชาติไทยชุดเอ และสาย B มีทีมชาติมาเลเซีย, ทีมชาติบังคลาเทศ และทีมชาติไทยชุดบี

 

15 ธันวาคม 2519 ทีมชาติไทย (เอ) พบ ทีมชาติเกาหลีใต้ ท่ามกลางแฟนลูกหนังกว่า 30,000 คน นักเตะโสมขาวอดีตเจ้าของถ้วยคิงส์คัพ 6 สมัย เปิดฉากทักทายก่อนทางด้านปีกขวา (OUTSIDE RIGHT) “เจ้าม้าบ้า” ชา บุน กุม คอยกระชากหนีกองหลังเจ้าถิ่น ในขณะที่ “แมททริวเมืองไทย” สมพร จรรยาวิสูตร ก็คอยก่อกวนแดนหลังอารีดังเช่นกัน น.29 “ปีกซ้ายมหาภัย” เชิดศักดิ์ ชัยบุตร ได้ยิงจังหวะแรกเข้ามุมเสา 1-0 แต่ น.31 ซอย จอง คัก ซัลโวบอลเสียบคานบนเอาคืนทันควัน 1-1

 

ครึ่งหลัง จากลูกเตะคอนเนอร์ (CORNER KICK) น.17 ผู้เล่นพลังโสมสกัดไม่ขาด “ฮาล์ฟอังกฤษ” วิทยา เลาหกุล จึงยิงสวนทางปืนกระแทกตาข่าย ทีมไทยคว้าชัยนัดแรกเหนือแชมป์เก่าเกาหลีใต้ อย่างงดงาม 2-1

 

19 ธันวาคม 2519 ทีมชาติไทย (เอ) พบ ทีมชาติสิงคโปร์ มีผู้ชมราว 15,000 คน เกมเดินมาถึง น.15 “สุภาพบุรุษนักเตะ” เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง ขึ้นโหม่งบอลจังหวะคอนเนอร์เป็นประตู ครึ่งแรก 1-0

 

45 นาทีสุดท้าย เกมเล่นกันแค่ครึ่งสนามในแดนนักเตะลอดช่อง ทีมเจ้าบ้านมายิงได้อีกจากฝีเท้า สมพร น.60, วิทยา น.61 และสุรินทร์ เข็มเงิน ระเบิดฟอร์มทำ “แฮตทริก” น.79, น.81 และน.85 จบ 90 นาที ทีมไทย ถล่ม ทีมสิงคโปร์ 6-0

 

19 ธันวาคม 2519 ทีมชาติไทย (บี) แพ้ ทีมชาติมาเลเซีย 0-1

 

20 ธันวาคม 2519 ทีมชาติไทย (บี) ชนะ ทีมชาติบังคลาเทศ 2-0 ผู้ทำประตู “ดาวยิงหน้าติดหนวด” ดาวยศ ดารา น.17 และน.32

 

รอบรองชนะเลิศ 23 ธันวาคม 2519 ทีมชาติไทย (เอ) พบ ทีมชาติไทย (บี) แฟนฟุตบอลเข้ามาชมประมาณ 1,200 คน การพบกันนัดแรกในเกมระดับชาติระหว่างนักเตะสยามสายเลือดเดียวกัน โค้ชทั้งสองทีมจึงนำผู้เล่นสำรองลงสนามเป็นส่วนใหญ่ น.4 โสภณ กิจผลิต (บี) พุ่งเข้าเสียบ จำเริญ คำนิล (เอ) ในเขตโทษ แต่ เจษฎาภรณ์ (เอ) ยิงจุดโทษพลาด พุทธิลัทธิ์ เอี่ยมพิทักษ์ รับไว้ได้ ครึ่งแรก 0-0

 

น.71 “ไข่มุกดำ” วีระยุทธ สวัสดี ยิงให้ชุดเอขึ้นนำก่อน 1-0 น.81 สมพร ขึ้นโขกสกอร์ 2-0 และน.83 “เจ้าหลอหัวเรดาห์” พิชัย คงศรี โหม่งให้ชุดเล็กไล่ตามมาเป็น 1-2 แต่แล้วผู้ตัดสิน นายวิจิตร เกตุแก้ว ได้เป่านกหวีดจบเกม ก่อนหมดเวลาจริงร่วม 10 นาที จึงทำให้ทีมไทยชุดเอผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศเป็นสมัยที่ 5

 

โดยก่อนหน้านั้น 8 ปี ทีมธงไตรรงค์ทำได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์มาตลอด เริ่มจากครั้งที่ 3 (พ.ศ.2513) แพ้ ทีมเกาหลีใต้ 0-1, ครั้งที่ 4 (พ.ศ.2514) แพ้ ทีมเกาหลีใต้ 0-1, ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2515) แพ้ ทีมมาเลเซีย 0-1 และครั้งที่ 7 (พ.ศ.2517) แพ้ ทีมเกาหลีใต้ 1-3

 

รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 9 วันที่ 25 ธันวาคม 2519 ณ สนามศุภชลาศัยฯ ระหว่าง ทีมชาติไทย พบ ทีมชาติมาเลเซีย ท่ามกลางแฟนลูกหนังรอบสนามกว่า 28,000 คน

 

ขุนพลนักเตะลุ่มเจ้าพระยาลงสนาม ด้วยการสวมเสื้อสีเหลืองกางเกงน้ำเงิน ในขณะที่ทีมเสือเหลืองมาเลย์กลับต้องใส่สีขาวทั้งชุด และขาดกำลังสำคัญ หว่อง ซีฟุค กองหน้าร่างโย่งที่กำลังคั่วตำแหน่งดาวซัลโวของทัวร์นาเม้นต์ เพราะยิงไปถึง 4 ประตู เนื่องจากบาดเจ็บหนัก จนต้องขึ้นเครื่องกลับบ้านไปก่อนแล้ว เริ่มเกมทีมเจ้าถิ่นเสียเปรียบเพราะอยู่ฝั่งใต้ลม แต่ยังสามารถประคองการเล่นกันได้ น.32 เจษฎาภรณ์ ยิงมุมแคบลอดตัว ราชิด ฮัสสัน ที่ถล่ำออกมา ทีมไทยขยับนำก่อน ครึ่งแรก 1-0

 

ในต้นครึ่งหลัง น.49 “แบ็คหน้าผี” โช ชิน อัน ดาราเอเชียและกัปตันทีมมาเลย์ผ่านลูกให้ วัน ราซิด เตะแบบกึ่งยิงกึ่งผ่านหายเข้าไปในประตู ตีเสมอเป็น 1-1 น.62 วีระยุทธ ลงแทน “เจ้าเป็ด” ศุภฤกษ์ ชีวะบุตร แต่ไม่มีการเพิ่มสกอร์กันอีก จนหมดเวลาการแข่งขัน 90 นาที

 

ช่วงต่อเวลาพิเศษ 30 นาที น.94 จำเริญ ลงแทน เชิดศักดิ์ แม้ว่าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะพยายามบุกเข้าใส่กันตลอดครึ่งชั่วโมงแล้ว ก็ยังไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงผลบนสกอร์บอร์ดได้ จบเกมการแข่งขัน ทีมไทย เสมอ ทีมมาเลเซีย 1-1

 

ทีมชาติไทยชนะเลิศถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 9 เป็นสมัยแรกสำเร็จ แม้จะต้องครองถ้วยร่วมกับทีมชาติมาเลเซีย หลังจากวงการลูกหนังบ้านเรา ต้องรอคอยความสำเร็จมานานถึง 9 ปีเต็ม นักฟุตบอลตราธงไตรรงค์จึงได้สัมผัสถ้วยอันทรงเกียรติยศใบนี้ พร้อมนำความสมหวังมาสู่แฟนลูกหนังชาวไทยทั้งประเทศ.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ