บทความ เรื่อง “อัศวินม้าขาว” เจ้าพระยารามราฆพ
นายกสมาคมฟุตบอลฯ คนแรกของสยามประเทศ เมื่อแรกเริ่ม พ.ศ.2459 แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ทำให้สมาคมฟุตบอลฯ กลายเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้รับความใส่ใจจากฝ่ายบ้านเมือง จนเจ้าพระยารามราฆพ เดินทางกลับสู่มาตุภูมิจึงดำเนินการกอบกู้เกียรติภูมินักเลงฟุตบอลแผ่นดินสยามให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของล้นเกล้าฯ “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม”
เจ้าพระยารามราฆพ เดิมชื่อว่า หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2433 เป็นบุตรพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ ณ อยุธยา) กับพระนมทัด เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อ พ.ศ. 2448 และได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) เมื่อเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ท่านจึงได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายขัน หุ้มแพร กรมมหาดเล็ก และวันที่ 27 ธันวาคม 2455 จึงได้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ
รัชสมัยสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงพัฒนาสยามประเทศในทุกด้าน อาทิ การศึกษา การทหาร การกีฬา ศิลปและวัฒนธรรม ฯลฯ โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ราชการอย่างใกล้ชิดเสมอมา สำหรับกีฬา "ฟุตบอล" กล่าวกันว่าเป็น “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” เมื่อพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์และสนับสนุนการจัดแข่งขันรายการต่าง ๆ ในพระนครและปริมณฑล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวงครั้งแรกเสร็จสิ้นลง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก วันที่ 1พฤศจิกายน 2458 จึงมี พระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการฟุตบอลถ้วยทอง (ทรงเป็นสภานายกฯ) ขึ้นเป็น "กรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม" พร้อมรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นสภานากยก สำหรับงานแรกของคณะกรรมการฯ คือการคัดเลือกนักเลงฟุตบอลทีมชาติสยามชุดแรก
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ฉบับวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2458 ลงข่าว "การฝึกซ้อมฟุตบอลสำหรับชาติและประทานหมวก เครื่องหมายความสามารถฟุตบอล" โดยมีคำกล่าวให้โอวาทของพระยาประสิทธิ์ศุภการ ความว่า
"ท่านทั้งหลาย ที่ได้รับใบเชิญเล่นฟุตบอลสำหรับชาติและผู้เล่นสำรองที่มาช่วยฝึกซ้อมวันนี้ เป็นโอกาศอันดี ที่ข้าพเจ้าได้พบแก่ท่านทั้งหลาย เพราะตั้งแต่ได้เริ่มตั้งคณะฟุตบอลขึ้น ข้าพเจ้าผู้เป็นนายกกรรมการยังมิได้พบปะพูดจากับท่านเลย ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดี ที่ได้เห็นท่านฝึกซ้อมฟุตบอลสำหรับเล่นให้แก่ชาติ ในวันที่ 23 เดือนนี้ จึงอยากจะขอชี้แจงพอสมควรที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยามขึ้น ก็เพราะมีพระราชประสงค์จะทรงเกื้อกูลการเล่นที่มีคุณค่าต่าง ๆ ด้วยพระองค์ เพื่อประกาศว่า คนไทยก็มีความสามารถพอที่จะเล่นการเล่นต่าง ๆ ได้เท่ากับชาวต่างประเทศเหมือนกัน และทรงหวังจะให้การเล่นชนิดนี้เจริญ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อจัดการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ฯลฯ"
ภายหลังมีชัยชนะเหนือชาวยุโรปแล้ว จึงทรงมีประกาศราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการจัดตั้ง “คณะฟุตบอลแห่งสยาม” (สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์) ณ วันที่ 25 เมษายน 2459 โดยพระยาประสิทธิ์ศุภการ หรือต่อมา คือ “เจ้าพระยารามราฆพ” ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกสมาคมฯ คนแรกของวงการลูกหนังเมืองไทย และคณะสภากรรมการส่วนใหญ่ คือกรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม นั้นเอง
รัชกาลที่ 6 ยังได้ทรงพระราชทานบ้านนารายณ์บรรทมศิลป์ (ทำเนียบรัฐบาล) ให้แก่พระยาประสิทธิ์ศุภการ กล่าวกันว่าท่านใช้เป็นสถานที่ทำงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยามฯ ช่วงนั้นอีกด้วย
ภายหลังจากอยู่ในหน้าที่สภานายกสมาคมฯ มากว่า 4 ปี ในวันที่ 19 สิงหาคม 2462 พระยาประสิทธิ์ศุภการ ได้เขียนจดหมายลาออกจากตำแหน่ง ถึงพระปรีชานุศาสน์ เลขาธิการฯ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะเกิดกรณีข้อกล่าวหาว่านักฟุตบอลบางคนได้ลงเล่นถึงสองทีม ในการแข่งขันถ้วยใหญ่ประจำปีของสมาคมฯ
สำหรับประวัติการรับราชการที่สำคัญ คือ พ.ศ. 2464 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระยาประสิทธ์ศุภการ ขึ้นเป็น “เจ้าพระยารามราฆพ” กล่าวกันว่าเป็นเจ้าพระยาอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การแต่งตั้งของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา ได้เลื่อนยศเป็น "พลเอก" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2467 ก่อนที่รัชกาลที่ 6 จะเสด็จสวรรคต จึงตัดสินใจเดินทางไปพำนัก ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาหลายปี
ก่อนกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475) ในระหว่างนั้น กิจกรรมของสมาคมฯ ไม่ได้เป็นไปแบบต่อเนื่อง เพราะหลายฝ่ายเกรงใจคณะราษฎร์ ทำให้เจ้าพระรามราฆพต้องเดินทางเข้าพบ จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กลับมาบริหารงานอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนขึ้นใหม่ และท่านได้ดำรงตำแหน่งสภานายกกิตติมศักดิ์ฯ (พ.ศ.2490-2499) ทำให้วงการกีฬาลูกหนังของเมืองไทย ได้กลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชประสงค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จนหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ขนามนามให้ท่านเป็น “อัศวินผู้ขี่ม้าขาว”
นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศฯ คนแรกของกรุงสยาม “พลเอก พลเรือเอก มหาเสวก
เอก เจ้าพระยาราฆพ” บุรุษผู้กอบกู้เกียรติภูมิแห่งศักดิ์ศรีนักเลงฟุตบอลสยามประเทศ ถึงแก่อสัญญกรรมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 นับเป็นการสูญเสียเจ้าพระยาคนสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตย และบุคลากรที่สำคัญในวงการกีฬาลูกหนังไทย อันจะต้องกล่าวขานนามท่านด้วยความสง่างามของคุณงามความดี...ตลอดไป.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ