บทความ เรื่อง "ลูกผู้ชายหัวใจลูกหนัง" วิทยา เลาหกุล
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2516 เอกไชย สนธิขัณฑ์ คือนักฟุตบอลทีมชาติไทยคนแรกที่เดินทางไปเล่นต่างแดน สังกัดสโมสรแรงเยอร์ของฮ่องกง ต่อมามีนักเตะสยามขึ้นเครื่องไปพิสูจน์ฝีเท้าอีกหลายคน เช่น ชัชชัย พหลแพทย์ และประพนธ์ ตันตริยานนท์ ในสโมสรโซโก้ ก่อนที่หน้าประวัติศาสตร์จะบันทึกว่าเด็กหนุ่มจากเมืองเหนือ คือนักฟุต บอลไทยคนแรก ในลีกอาชีพของยุโรป
วิทยา เลาหกุล เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ณ จังหวัดลำพูน มีพี่น้องทั้งหมด 14 คน ในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากบิดาถูกหุ้นส่วนการค้าโกงเงิน แต่เขาก็เติบโตขึ้นมาท่ามกลางกลิ่นสาปลูกหนังอย่างแท้จริง เมื่ออายุ 8 ขวบก็ได้รับการพร่ำสอนเชิงกีฬาฟุตบอลจากพี่ชายที่เป็นครู และบ่อยครั้งที่จะต้องวิ่งไปกลับหลายสิบกิโล เพียงเพื่อต้องการดูรายการโทรทัศน์ที่นำเทปฟุตบอลอังกฤษมาฉาย ดาราลูกหนังที่เด็กชายวิทยาชื่นชอบ คือบ๊อบบี้ มัวร์ (เวสแฮม ยูไนเด็ด) และนอร์แมน ฮันเตอร์ (ลีดส์ ยูไนเต็ด) ผู้เล่นตำแหน่งกองกลางทั้งสองคน
กีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2516 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทีมฟุตบอลเขต 5 จังหวัดลำพูนชนะเลิศคว้าเหรียญทองมาครองได้เป็นครั้งแรกของจังหวัด โดยตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเม้นต์ ตกเป็นของกองกลางทีมเขต 5 "วิทยา เลาหกุล" ทำให้ถูกเรียกตัวมาทดสอบฝีเท้าที่กรุงเทพ จนมีชื่อติดทีมนักเรียนไทยชุดอายุ 18 ปี ภายใต้การฝึกสอนของโค้ชวิวิธ ธิโสภา ก่อนเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลนักเรียนชิงแชมป์แห่งเอเชีย ที่ประเทศไต้หวัน และประสบความสำเร็จครองแชมป์อีกเช่นกัน
เมื่อวิทยา เลาหกุล เดินบนถนนลูกหนังของเมืองหลวง โดยเริ่มจากสังกัดสโมสรฮากกา ก่อนจะย้ายมาสโมสรราชประชานุเคราะห์ ของ "หม่อมลูกหนัง" พลตำรวจตรี หม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร และบางรายการก็จะไปเล่นให้กับสโมสรพัฒนาเยาวชนในเครือเดียวกัน เพื่อนร่วมทีมสมัยนั้น คือเชิดศักดิ์ ชัยบุตร, เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ, ชาญวิทย์ ผลชีวิน, สมพร จรรยาวิสุทธิ์ ฯลฯ จากทีมนักเรียนและเยาวชนไทย ก็ก้าวขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ในฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2518 ทีมไทยชนะทีมอินโดนีเซีย 3 - 1 แต่ประตูแรกในนามทีมชาติทำได้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 นัดอุ่นเครื่องนอกบ้าน ทีมไทยแพ้ทีมเลบานอล 1 - 2 (1)
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2518 วิทยา เลาหกุล ถูกบรรดานักข่าวสายกีฬาของไทยเรียกว่า "ฮาล์ฟอังกฤษ" เมื่อสามารถเล่นได้ทั้งเกมรุกและรับ จนช่วยให้ทีมชาติไทยครองเหรียญทองกีฬาเซียพเกมส์ แบบทีมเดียวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี (แหลมทอง ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2508 ทีมไทยครองแชมป์ร่วมกับทีมพม่า) และผู้ที่ตั้งฉายาว่า "เจ้าเฮง" นั้น คือสุชิน กสิวัตร หรือ "แบ๊คยุโรป" ทีมชาติรุ่นพี่และเพื่อนร่วมห้องสมัยนั้น
จนมาถึงการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ประมาณ พ.ศ. 2521 สโมสรยันมาร์ดีเซลของญี่ปุ่น ซึ่งนำโดย "ดาราเอเชีย" คูนิชิเกะ กามาโมโต้ เข้ามาคว้าถ้วยไปครองเหนือสโมสรลูกหนังของไทย และได้ติดต่อขอซื้อตัว "ดาราควีนส์สตาร์" จากสโมสรราชประชาฯ วิทยา เลาหกุล เพื่อเดินทางไปร่วมบุกเบิกฟุตบอลลีกกึ่งอาชีพ ภายหลังการฝึกซ้อมอย่างหนักนาน 3 เดือน จึงลงสนามให้ทีมยันมาร์ฯ พบกับทีมฟูจิต้า (0 - 0) สำหรับแมตช์แห่งความทรงจำของ "เฮงซัง" คือ F.A. CUP รอบรองชนะเลิศ ในนัดที่ถ่ายทอดสดไปทั่วเกาะญี่ปุ่น ทีมยันมาร์ฯ พิชิตทีมฟูรูกาว่า 2 - 1 และเป็นเขาที่ยิงประตูชัย เวลา 2 ปีในดินแดนซากุระเขาได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 11 นักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล, ดาวซัลโวสูงสุด 6 ประตู (F.A. CUP) และทำสกอร์ในดิวิชั่นของญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 14 ประตู
ต่อมาปี พ.ศ. 2524 วิทยา เลาหกุล จึงตกลงเซ็นสัญญาเป็นนักเตะกับสโมสรเฮอร์ธ่า เบอร์ลิน (HERTHA BSC.) ในบุนเดสลีกาของประเทศเยอรมัน ทำให้กลายเป็นนักฟุตบอลคนแรกของไทยกับลีกอาชีพของทวีปยุโรป ระยะแรกยังคงต้องอยู่ที่ซุ้มม้านั่งตัวสำรองถึง 5 นัด ก่อนได้ลงสนามเกมแรก ณ สนามโอลิมปิกนครเบอร์ลิน ท่ามกลางแฟนลูกหนังชาวด๊อยส์กว่า 40,000 คน สโมสรเฮอร์ธ่า เบอร์ลิน พบ สโมสรดุสเซสดอร์ฟ ขณะ นั้น เฮอร์ธ่าฯ มีนักเตะระดับทีมชาติ คือวูล์ฟกัง เครฟ และจอร์เก้น บัวร์ โค้ชของทีมมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ตามประกบ โธมัส อัลลอล์ฟ น้องชายเคล้า อัลลอล์ฟ นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมันทั้งสองคนไม่สามารถจะทำเกมให้กับทีมเยือนได้ จนพ่ายแพ้ไปในที่สุด 1 - 4
นอกจากนี้แล้ว วิทยา เลาหกุล เคยปะทะแข้งกับสุดยอดของโลกลูกหนังเมืองเบียร์ อาทิเช่น เบิร์น ชูสเตอร์ (บาร์เยิร์น มิวนิค), ไบรเนอร์ บอนฮอฟ (โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค), เคล้า ฟิชเชอร์ (ชาลเก้ 04) ฯลฯ จน กระทั่งถูกยกย่องจากนักข่าวของเยอรมันเรียกว่า "ไทยบูม" (THAI BOOM) ก่อนทีมเฮอร์ธ่าฯ จะตกไปอยู่ในลีกา 2 พร้อมทั้งสถิติลงเล่นในบุนเดสลีกา รวม 30 แมตช์
ในขณะที่สโมสรนาโปลีของอิตาลีและอีกหลายทีม จึงให้ความสนใจที่จะซื้อตัว วิทยา เลาหกุล แต่เขากลับตัดสินใจย้ายไปเล่นอยู่ในทีมลีกา 3 กับ "สโมสรซาร์บรุ๊คเค่น" เพียงแค่ 1 ฤดูกาลเท่านั้น ก็มีส่วนสำคัญช่วยให้ทีมก้าวขึ้นสู่ลีกา 2 ได้สำเร็จ ระหว่างที่การค้าแข้งกำลังไปได้ดี วิทยา เลาหกุล ไม่ขอต่อสัญญากับสโมสร เพราะต้องการกลับเมืองไทยหลังจากใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนมานานกว่า 6 ปี พร้อมด้วยประกาศนียบัตรขั้นโปร ไลเซ่น (เป็นโค้ชบุนเดสลีกาได้ทันที) โดยใช้เวลาว่างจากการลงสนามไปศึกษามาจนสำเร็จ โดยจบสถิติการลงสนามให้ทีมซาร์ฯ รวม 52 แมตช์ และยิงได้ 8 ประตู
วิทยา เลาหกุล ยังคงลงสนามให้ต้นสังกัดเดิมจากย่านคลองประปาและในฐานะกัปตันทีมชาติไทยชุดคว้าแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2528 ก่อนจะแขวนสตั๊ดหลังจากรับใช้ชาติมาไม่น้อยกว่า 100 นัด และสถิติสกอร์ระดับชาติ จำนวน 20 ประตู
แต่แล้ว วิทยา เลาหกุล ต้องบินไปประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อรับตำแหน่งโค้ชสโมสรมัตสึชิตะ (ปัจจุบัน คือสโมสรพานาโซนิก กัมบะ) และนำทีมครองแชมป์หลายรายการ เช่น เอ็มเพอร์เร่อร์ คัพ (F.A. CUP), ควีนส์คัพ โดยรอบชิงชนะเลิศ สโมสรมัตซึชิตะพิชิตทีมทหารอากาศที่มี ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เป็นดาราของทีมไปอย่างเร้าใจ 4 - 3 พร้อมทั้งได้ดึงเอา 2 นักเตะดาวรุ่งทีมชาติไทย คือนที ทองสุขแก้ว และรณชัย สยมชัย เข้าเสริมทีมในฤดูกาลต่อมา แม้ว่าสมาคมฟุตบอลของญี่ปุ่นจะพยายามติดต่อให้ช่วยทำทีมระดับเยาวชน แต่ถูกปฏิเสธและเดินทางกลับเมืองไทยอีกครั้ง
การกลับมาคราวนี้ วิทยา เลาหกุล จึงได้คุมสโมสรธนาคารกรุงเทพ โดยสามารถพาทีมคว้าแชมป์ไทยแลนด์ลีก ครั้งที่ 1 เป็นทีมแรก ก่อนก้าวขึ้นเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทย ในปี พ.ศ. 2539 จนประสบความสำเร็จทำทีมคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 19 พ.ศ. 2540 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ท่ามกลางความยินดีของชาวไทยทั้งประเทศ
ในทศวรรษหน้านี้วงการลูกหนังของเยอรมัน อาจจะมีโค้ชคนแรกที่เป็นชาวเอเชีย เมื่อเขากล่าว ว่า "ผมอาจจะไปทำทีมระดับลีกา 3 ของเยอรมัน เพราะต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟุตบอลสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเล่น การเตรียมทีม ละเทคนิกต่าง ๆ ซึ่งเราควรที่จะต้องก้าวให้ทันหรือไม่ก็ต้องให้มาตรฐานใกล้เคียงกับทีมเหล่านั้น" ทั้งหมดนี้ คือบางเสี้ยวชีวิตของลูกผู้ชายหัวใจลูกหนัง "วิทยา เลาหกุล" หนึ่งในความภูมิใจของวงการฟุตบอลไทยอย่างแท้จริง
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ