ตำนานแหลมทองถวายพระพร รัชกาลที่ 10
ทีมชาติไทยชุดชนะเลิศกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2518 ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรฟุตบอลและพระราชทานคล้องเหรียญสุดท้ายลำดับที่ 1,061 ของกีฬาเซียพเกมส์ ถือเป็นทีมชาติชุดแรกในประวัติศาสตร์ที่ลงเล่นนัดชิงหน้าพระที่นั่งแล้วทีมชาติไทยเป็นแชมป์
ไชยวัฒน์ พรหมมัญ เจ้าของฉายา "เจ้าปลาหมึก" กล่าวว่า "ในฟุตบอลแหลมทองครั้งนั้น ผมสลับลงเล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูกับพี่สราวุธ แต่ในนัดชิงชนะเลิศผมลงเป็นตัวจริง พวกเราเป็นรองทีมชาติมาเลเซีย แต่ก็เราช่วยกันจนพาทีมไทยชนะเลิศ สิ่งที่ภูมิใจคือการได้เล่นหน้าพระที่นั่ง ได้ขึ้นรับเหรียญทองจากพระหัตถ์รัชกาลที่ 10 ยังคงเป็นความปลื้มปิติมาถึงทุกวันนี้ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ ครับ"
สราวุธ ประทีปากรชัย เจ้าของฉายา "เจ้าแมวป่า" กล่าวว่า "ผมยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้ดี เพราะเป็นกีฬาแหลมทองครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์ ทีมชาติไทยเราเล่นหน้าพระที่นั่่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในขณะนั้น ช่วงขึ้นไปรับเหรีญชนะเลิศ ความรู้สึกตื่นเต้นและภาคภูมิใจ ยิ่งมาทราบประวัติศาสตร์ว่าทีมชาติชุดนั้น เป็นชุดแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากพระหัตถ์รัชกาลที่ 10 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ครับ"
วิทยา เลาหกุล เจ้าของฉายา "ฮาล์ฟอังกฤษ" กล่าวว่า "ผมพึ่งติดทีมชาติเป็นปีแรก ยิ่งได้ลงเล่นหน้าพระที่นั่งในฐานะของนักฟุตบอลทีมชาติไทย ความรู้สึกคือภูมิใจแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูล ที่บ้านผมจะติดภาพที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานเหรียญทองไว้จนถึงปัจจุบัน และกำลังจะนำไปใส่กรอบใหม่เพื่อให้สมพระเกียรติยศของรัชกาลที่ 10 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ครับ"
ดาวยศ ดารา เจ้าของฉายา "ศูนย์หน้าหนวดหิน" กล่าวว่า "ในชีวิตที่เล่นฟุตบอลมา ความภูมิใจของผม คือการได้เข้าเฝ้าทุกพระองค์จากการเล่นฟุตบอล แต่ในปี 2518 ซึ่งเป็นกีฬาแหลมทองครั้งสุดท้าย และเล่นในบ้านเราเอง วันชิงชนะเลิศพวกเราทราบว่าพระองค์จะเสด็จมาเป็นประธานในพิธีปิดและทอดพระเนตรฟุตบอล ยิ่งทำให้ต้องตั้งใจเล่นกันมากขึ้น ก่อนที่พวกเราจะทำสำเร็จการขึ้นรับเหรียญทองสุดท้ายของเซียพเกมส์จากพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 10 ในวันนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ผมเองถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดของนักฟุตบอลไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ครับ"
วีระยุทธ สวัสดี เจ้าของฉายา "ไข่มุกดำ" กล่าวว่า "การรับใช้ทีมชาติไทยของผม เคยชนะเลิศ 2 ครั้ง กับชุดแหลมทอง ครั้งที่ 8 และคิงส์คัพ ครั้งที่ 9 แต่ถ้าถามว่าภูมิใจกับแชมป์ครั้งใดมากที่สุด คงเป็นความรู้สึกที่ต่างกัน แต่ฟุตบอลแหลมทองเมื่อ 42 ปีก่อนนั้น เป็นความปลื้มปิติของผมและวงศ์ตระกูล ที่ได้รับเหรียญทองจากพระองค์ท่าน สมัยเล่นอยู่สโมสรราชวิถี ผมได้เคยฟังพวกรุ่นพี่เล่าถึงประปรีชาสามารถการเล่นฟุตบอลของพระองค์ ทุกวันนี้นอกจากเหรียญที่บ้านยังมีภาพวันคล้องเหรียญติดอยู่ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ ครับ"
สุรพล ธรรมสุจริต หนึ่งในตำนานทีมชาติไทย กล่าวว่า "ผมจำเหตุการณ์ระหว่างแข่งขันนัดชิงชนะเลิศไม่ได้ แต่ที่ยังฝังใจจนถึงทุกวันนี้ คือความตื้นเต้นที่จะต้องขึ้นไปรับพระราชทานเหรียญจากพระองค์ท่าน เพราะไม่มีใครบอกว่ามาก่อนว่าต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง พอขึ้นไปบนอัฒจันทร์ผมก้มโค้งคำนับและพระองค์ก็คล้องเหรียญทองให้ สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นมงคลสูงสุดก็ว่าได้ในการเล่นฟุตบอลให้ทีมชาติไทยมา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ครับ"
ขุนพลนักเตะลุ่มเจ้าพระยาชุดกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 8 (พ.ศ. 2518) จำนวน 18 คน คือไชยวัฒน์ พรหมมัญ, สราวุธ ประทีปากรชัย, สมเกียรติ รอดเจริญ, สุรพล ธรรมสุจริต, สุชิน กสิวัตร, อำนาจ เฉลิมชวลิต, ศุภฤกษ์ ชีวะบุตร, วิทชัย อรรถพร, สิทธิพร ผ่องศรี, อารมย์ จันทร์กระจ่าง, วิทยา เลาหกุล, สมาน ธูปประสาท, สุรินทร์ เข็มเงิน, ดาวยศ ดารา, เชิดศักดิ์ ชัยบุตร, เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง, วีระยุทธ สวัสดี และไพรฤทธิ์ ผังดี สต๊าฟโค้ช พ.ต.ท.ยรรยง ณ หนองคาย และนายประวิท ไชยสาม ผู้จัดการทีม นายสุชาติ มุทุกัณฑ์
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
(ขอบคุณภาพ สราวุธ ประทีปากรชัย และวีระยุทธ สวัสดี)