Web Analytics
บทความ ตำนานลูกทัพฟ้า

บทความ เรื่อง "ตำนานลูกหนังทัพฟ้า"

 

หนึ่งในตำนานสโมสรฟุตบอลสยามประเทศ เมื่อ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวกันว่ามีแฟนลูกหนังติดตามชมผลงานมากที่สุด จนกลายเป็นทีมขวัญใจมหาชน เจ้าของฉายา “ทีมลูกทัพฟ้า” สโมสรทหารอากาศ พร้อมทั้งสถิติที่ยากแก่การทำลายได้ถูกสร้างขึ้น ด้วยฝีเท้าอันเอกอุของเหล่าขุนพลนักเตะจากทุ่งดอนเมือง คือการชนะเลิศถ้วยสูงสุดของเมืองไทย ถึง 7 ปีซ้อนติดต่อกัน ระหว่าง พ.ศ.2500-2506 เรื่องราวที่กล่าวขานด้วยความภาคภูมิใจแห่งยุคสมัย

 

ทีมฟุตบอล “สโมสรทหารอากาศ” ก่อกำเนิดเกิดขึ้นประมาณปลายปี พ.ศ.2480 ภายหลังการสถาปนา “กองทัพอากาศ” (9 เมษายน 2480) โดย นาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ ก่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ (พ.ศ.248 -2484) คนแรกของประเทศไทย

 

โดยใช้เวลานานกว่า 12 ปี เพื่อพัฒนาการเล่นฟุตบอลของพลพรรคนักรบเวหา จนประสบความสำเร็จชนะเลิศถ้วยน้อย (ถ้วย ข ) ถึง 3 สมัยซ้อน (พ.ศ. 2492, 2493, 2494) และปีถัดมานั้น “ทีมลูกทัพฟ้า” จึงสามารถครองถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก) เป็นสมัยแรก เมื่อ พ.ศ. 2495 ก่อนจะคว้าแชมป์อีก 1 ปีติดต่อกัน ใน พ.ศ.2496

 

ในปี พ.ศ. 2500 พลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศที่ให้ความสำคัญต่อการกีฬาของกองทัพอากาศ และมีส่วนสนับสนุนสโมสรฟุตบอลทหารอากาศ จนทำให้เหล่าบรรดานักเตะกองทัพจรวดลูกทัพฟ้าจากทุ่งดอนเมือง เช่น เล็ก อมฤตานนท์, ปราณีต ปราณีตบุตร, ล้วน พันธ์งาม, ประกอบ รัศมีมาลา, นักรบ โพธิ์แสง, ทองหล่อ เจริญเดช, ยรรยง นิลภิรมย์ ฯลฯ เริ่มสร้างปฐมบทสถิติที่กล่าวได้ว่า “ไม่มีวันถูกทำลาย” และเป็นที่เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น จวบจนปัจจุบัน

 

เมื่อสามารถเถลิงแชมป์ครองถ้วยสูงสุดของสยามประเทศ “ถ้วยพระราชทานประเภทถ้วยใหญ่” ถึง 7 สมัยติดต่อกัน (พ.ศ. 2500, 2501, 2502, 2503, 2504, 2505, 2506) ด้วยการเล่น “ลูกบอร์ม” โยนยาวและใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายเข้าบดขยี้คู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น สโมสรมุสลิม, สโมสรชายสด, สโมสรรวมมิตร, สโมสรอัสสัมชัญ ฯลฯ ที่เป็นยอดทีมของวงการนักเลงฟุตบอลเมืองหลวง จนสโมสรต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่อาจเบียดขึ้นสู่ตำแหน่งราชัญแห่งฟุตบอลเมืองไทยได้เลยกว่าหนึ่งทศวรรษ

 

อนึ่ง พลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2503 ขณะมียศ “พลอากาศเอก” ภายหลังการประชุมกองทัพอากาศภาคพื้นแปซิฟก ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เนื่องจากเครื่องบินดักลาส C-54 Skymaster เกิดอุบัติเหตุชนภูเขาเสียชีวิตทั้งลำ ต่อมาจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “จอมพลอากาศ” ในเวลาต่อมา

 

หลังจากนั้นอีก 24 ปีต่อมา ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประจำ ปี พ.ศ. 2530 สโมสรทหารอากาศ ที่ส่งทีมเข้าแข่งขันทั้ง 4 ประเภท สามารถสร้างประวัติศาสตร์ครองถ้วยพระราชทานถึง 3 รายการในปีเดียวกัน คือ ประเภทถ้วย ก ถ้วย ข และถ้วย ค ขุนพลลูกทัพฟ้าช่วงทศวรรษนี้ ประกอบด้วย ศุภกิจ มีลาภกิจ, สุชิน กสิวัตร, ดนัย มงคลศิริ, จีระศักดิ์ เจริญจันทร์, นราศักดิ์ บุญเกลี้ยง, กัมปนาท อั้งสูงเนิน, วิลาศ น้อมเจริญ, ไพโรจน์ พ่วงจันทร์, วีระพงษ์ เพ็งลี, ชลอ หงษ์ขจร, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, ประทีป ปานขาว, ส่งเสริม มาเพิ่ม, พิชิต แสงหัวช้าง, ชลทิศ กรุดเที่ยง ฯลฯ

 

แม้ว่าปัจจุบัน กาลเวลาพิสูจน์ให้เห็นถึงสัจจธรรมที่ว่า “สูงสุดสู่สามัญ” แต่ตำนานสงครามแข้งของ “สโมสรทหารอากาศ” คงไม่อาจถูกลบเลือนไปจากสารบบยอดทีมของวงการฟุตบอลเมืองไทย เมื่อ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ดังคำกล่าวคอลูกหนังสนามศุภฯ ยุคเก่าที่ว่า “ฟุตบอล คือเกมของสุภาพบุรุษนักกีฬา” และชัยชนะที่ไร้มลทินควรค่าแห่งความทรงจำ...ตลอดกาล.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ