บทความ เรื่อง “ทีมชาววัง” ตำนานลูกหนังไทย
สโมสรที่ก่อตั้งขึ้นด้วย “ปฏิภาณ” แห่งจิตวิญญาณนักกีฬา ปูชนียบุคคลของวงการฟุตบอลเมืองไทย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทุนพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อครั้งเดินทางไปศึกษาวิชาการฝึกลูกหนังชั้นสูง ณ ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ.2505 ก่อนกลับแผ่นดินแม่ จนก่อเกิด “สโมสรราชวิถี” ที่กล่าวกันว่า คือ หนี่งในสุดยอดตำนานฟุตบอลสยามประเทศ
ย้อนอดีตก่อนการเริ่มต้น เมื่อ “ทีมบัวหลวง” สโมสรธนาคารกรุงเทพ ต้องพ่ายแพ้ “ทีมตราโล่” สโมสรตำรวจ อย่างน่ากังขา จนมีผลให้ “ทีมลูกทัพฟ้า” สโมสรทหารอากาศ ต้องพลาดเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก ) ในปี พ.ศ.2508 เนื่องจากมีคะแนนอันดับที่ 3 ของการฟาดแข้งแบบพบกันหมด ทำให้ อ.สำรวย ไชยยงค์ (ปัจจุบัน พล.ต.สำเริง ไชยยงค์) อดีตทีมชาติไทยชุดโอลิมปิค เมลเบิร์น ค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) ในฐานะผู้ฝึกสอนของทีมเจ้าสัว ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที แม้จะพึ่งเดินทางกลับจากการนำเยาวชนทีมชาติไทยไปแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่สโมสรธนาคารกรุงเทพ ก็แสดงสปิริต “น้ำใจนักกีฬา” ด้วยการถอนทีมไม่ลงเล่นนัดชิงชนะเลิศ บทเรียนอันทรงคุณค่าที่จบลงด้วยความเป็น “สุภาพบุรุษ” ทำให้ทีมตำรวจครองถ้วยพระราชทานเป็นสมัยแรกของประวัติศาสตร์สโมสร
ในระหว่าง พ.ศ.2508-2510 นั้น “ปรมาจารย์ฟุตบอลเมืองไทย” อ.สำเริง ไชยยงค์ (ยศปัจจุบัน พลตรี สำเริง ไชยยงค์) และน้องชายอีก 6 คนของตระกูล "ไชยยงค์" โดยมี อ.เสนอ ไชยยงค์ เป็นผู้ช่วยหลักจึงได้ใช้สนามทรายข้างศาลต้นโพธิ์ ภายในบริเวณสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ช่วงเวลาตอนเย็นของทุกวัน เพื่อฝึกสอนทักษะการเตะลูกหนังให้กับเด็ก ที่มีความสนใจเกมฟุตบอล จากอนุชนประมาณสิบคน ได้เพิ่มเป็นยุวชนกว่าร้อยชีวิต จนเสริมสร้างประสบการณ์และความแข็งแกร่งแล้ว ด้วยนักเตะรุ่นบุกเบิก อาทิ “สิงห์สนามศุภ” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, พิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์, ไพศาล มีอำพัน, สนอง ไชยยงค์, สุพัฒน์ ไชยยงค์, สหัส พรสวรรค์, ปรีชา กิจบุญ, “เจ้าเหลือง” จุฑา ติงศภัทิย์, อารมณ์ จันทร์กระจ่าง, แก้ว โตอดิเทพ, “จอมเบสิค” สิทธิพร ผ่องศรี, ภานุวัฒน์ ร่วมฤดีกุล, “นายพันลูกหนัง” อำนาจ เฉลิมชวลิต ฯลฯ ก่อนจะส่งลงสนามฟุตบอลระดับเยาวชนของกรุงเทพมหานคร ในนาม “ทีมพลศึกษา”
ถัดมา 2 ปี อ.สำเริง ไชยยงค์ นักเตะทุนพระราชทาน จึงได้ยื่นจดทะเบียนก่อตั้ง “สโมสรฟุตบอลราชวิถี” เนื่องจากภายหลังได้ย้ายมาทำการฝึกซ้อม ณ สนามฟุตบอล ที่อยู่ระหว่างถนนราชวิถีและพระราชวังจิตรลดา สีประจำสโมสร คือ “สีเหลือง” และ “สีฟ้า” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันเป็นที่มาของฉายา “สโมสรชาววัง”
สโมสรราชวิถีเป็นทีมแรกในวงการลูกหนังเมืองไทย ที่ไม่ใช้การเล่นแบบเก่า คือการโยนแล้ววิ่งไล่ แต่เริ่มใช้ระบบการเล่นแบบใหม่ คือ “โททั่ลฟุตบอล” ซึ่งผู้เล่นทุกคนจะสามารถสลับตำแหน่งทดแทนกันได้ และการสร้างทีมจากฐานราก ในระดับเยาวชนเพื่อผลักดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ดังเจตนารมณ์ของ อ.สำเริง ไชยยงค์ จึงทำให้สโมสรราชวิถี ประสบความสำเร็จชนะเลิศลูกหนังเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ถึง 6 ปีติดต่อกัน (ระหว่าง พ.ศ.2510-2516) ก่อนครองถ้วยพระราชทาน ประเภท ก อีก 4 ครั้ง (พ.ศ. 2512, 2516, 2518, 2520)
นอกจากนี้ เมื่อเริ่มจัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2513 สโมสรราชวิถี คือภาคีสมาชิกยุคปฐมบท โดยนักเตะชาววังชนะเลิศใน พ.ศ.2516 พร้อมกับคว้าถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ในปีเดียวกันด้วย นับเป็น “ดับเบิ้ลแชมป์” ที่ยิ่งใหญ่และกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นนานกว่า 18 ปี สโมสรราชวิถีจึงกลับมาชนะเลิศถ้วยพระราชทานประเภท ข ประจำปี พ.ศ.2538 ก่อนที่ปีต่อมา สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะปรับเปลี่ยนระบบการแข่งขันลูกหนังรายการสูงสุดของประเทศ ด้วยการจัดตั้งระบบลีก เรียกว่า “ไทยลีก” ขึ้น ในปี พ.ศ. 2539 ทำให้ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก หรือ “ถ้วยใหญ่” ในรัชกาลที่ 6 จึงกลายเป็นแค่การเล่นนัดเดียวหรือชิงถ้วยก่อนเปิดฤดูกาลเท่านั้น ในขณะที่สโมสรราชวิถีก็ไม่สามารถทนแรงเบียดของคลื่นลูกใหม่บนสนามลูกหนังได้ ทำให้ต้องตกชั้นลงไปเล่นใน ดิวิชั่น 1 เช่นกัน
อีกหนึ่งทีมที่ยิ่งใหญ่ของอดีต “สโมสรราชวิถี” ตำนานนักเตะชาววัง แหล่งผลิตนักเตะก้าวขึ้นสู่ทำเนียบทีมชาติไทย เมื่อ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำและบันทึกหน้าประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอลของประเทศไทย พร้อมด้วยเรื่องราวเล่าขานสงครามฟาดแข้ง...ที่ไม่มีวันจบสิ้น.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ