Web Analytics
บทความ "บุรุษผู้นำฟุตบอลสู่สยาม"

บทความ เรื่อง “บุรุษผู้นำฟุตบอลสู่สยาม" เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

 

นักปฏิวัติการศึกษาคนสำคัญของชาติ หรือรู้จักกันในนาม "ครูเทพ" ผู้มีริ้วหนวดดกดำเหนือริมฝีปาก ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตย กล่าวกันว่าท่าน คือผู้นำกีฬาฟุตบอลเข้ามาสู่เมืองสยาม

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2419 ณ ฝั่งพระนคร เป็นบุตรของ พระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวง เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และนางอยู่ ในขณะมีอายุ 12 ปี จึงเข้าเรียนหนังสือจนสอบไล่ได้ประโยคหนึ่ง โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข จบประโยคสอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (พ.ศ. 2432) และสำเร็จประโยคมัธยมศึกษา โรงเรียนสุนันทาลัยและโรงเรียนตัวอย่าง (พ.ศ.2434-2435)

 

ก่อนจะมาเรียนต่อ ณ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ (พ.ศ. 2435-2437) และสอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกได้อันดับที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2439 ทำให้เป็นนักเรียนทุนหลวง กระทรวงธรรมการ เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติม ณ วิทยาลัย เบอร์โร โรด (BOROUGH ROAD COLLEGE ISLEWRETH) ประเทศอังกฤษ ดินแดนแห่ง "ต้นตำรับฟุตบอลสมัยใหม่" เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี สนใจเรียนทั้งด้านวิชาการและการพลศึกษา โดยอยู่ในความดูแลของ เซอร์ โรเบิร์ต มอแรน จนกระทั่งจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตร (พ.ศ. 2441)

 

เมื่อกลับสู่สยาม จึงเข้ารับราชการในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มด้วยการสอนวิชาครูและคำนวณวิธี ที่โรงเรียนฝึกหัดครู และแต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ กระทั่งมีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงไพศาลศิลปศาสตร์" จึงได้ปฏิวัติการเรียนการสอนแต่เดิมของไทยที่ต้องนั่งเขียนกระดานดำบนพื้นกุฏิวัด มาเป็นการนั่งเก้าอี้เรียนในห้อง และเปลี่ยนการสอนทีละชั้น มาเป็นการสอนทุกชั้นพร้อมกัน ทำให้วงการศึกษาพัฒนาไปอย่างมาก

 

นอกจากนี้ หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ ยังส่งเสริมให้การเล่นกีฬา คือส่วนหนึ่งของการเรียน โดยนำเกม "ฟุตบอล" เข้ามาสอนให้นักเรียนเริ่มหัดเล่นกัน เมื่อได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ใน พ.ศ. 2444 ภายหลังการแข่งขันฟุตบอลนัดแรกของเมืองสยาม (2 มีนาคม 2443) กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ จึงจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนประเภทอายุไม่เกิน 20 ปีขึ้นเป็นรายการแรก โรงเรียนชนะเลิศจะได้รับโล่ไว้ครอบครองเป็นเวลาหนึ่งปี และการจารึกชื่อบนโล่เป็นเกียรติประวัติ จึงเรียกกันทั่วไปว่า "การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ" เริ่มแรกแข่งขันแพ้คัดออก หรือแบบ "น็อกเอาต์" (KNOCKOUT OR ELIMINATIONS) และทีมชนะเลิศปีแรก คือโรงเรียนฝึกหัดครู อีก 8 ปี (พ.ศ. 2452) ต่อมา จึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการแข่งขันแบบพบกันหมด (ROUND ROBIN)

 

แม้ว่าระยะแรก จะมีเสียงคัดค้านของบรรดาผู้ปกครองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงธรรมการ เนื่องจากการเล่นที่รุนแรง จนมีการบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง แต่ หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ ก็ได้พยายามปลูกฝังให้ "นักเลงฟุตบอล" ยึดคติการเล่นที่ว่า

 

"ให้เล่นฟุตบอล ไม่ใช่เล่นคน" (PLAY THE BALL. NOT PLAY THE MAN.)

 

นอกจากเขียนบทความแสดงเหตุผลให้เห็นว่าเกมฟุตบอลสามารถทำให้เด็กรู้จักรักษาสุขภาพของตนเอง ก่อเกิดความสามัคคีต่อหมู่คณะ และสอนให้มีความอดทนต่อความสำเร็จ อีกทั้งยังได้แปลหนังสือกติกาการแข่งขันกีฬาฟุตบอล "ASSOCIATION FOOTBALL" จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจการเล่นมากขึ้นและลงพิมพ์ในหนังสือ "วิทยาจารย์" เล่มที่ 1 ตอนที่ 7 เดือนพฤษภาคม 2444

 

เมื่อการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนได้รับความนิยมตามลำดับ ทั่วพระนครและปริมณฑล ทำให้กรมศึกษาธิการต้องเพิ่มการชิงโล่อีกหลายประเภท ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนิน เป็นประธานมอบโล่แก่โรงเรียนชนะเลิศฟุตบอลนักเรียน ประจำทุกปี ณ สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 

รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ "พระยาธรรมศักดิ์มนตรีสรรพศึกษาวิธียุโรปการ" ขึ้นเป็น "เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี" เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2460 ภายหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก "ราชาธิปไตย" มาเป็น "ประชาธิปไตย" จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 นับเป็นบุคคลแรกของสยามประเทศ ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2486

 

จึงกล่าวได้ว่า “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” ผู้บุกเบิกกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นทางการของเมืองสยาม นอกจากจะสร้างคุณานัปการ ต่อวงการศึกษาของชาติแล้ว บทเพลง "กราวกีฬา" ที่ท่านประพันธ์ไว้เมื่อพุทธศักราช 2468 นั้น เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่ง คือการเล่นฟุตบอล ยังกลายเป็นบทเพลงอมตะ อันคงเอกลักษณ์ที่ "บุคคลพลศึกษาแห่งชาติ" มอบให้คงอยู่คู่กับวงการกีฬาเมืองไทย…ตลอดไป.

 

จิรัฎฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ