Web Analytics
บทความ "พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม"

บทความ เรื่อง “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม”

 

กีฬา “ฟุตบอล” เกมส์ยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกปัจจุบัน เริ่มเข้ามาสู่แผ่นดินสยามปลายรัชสมัย “สมเด็จพระปิยะมหาราช” ก่อนกีฬาสากลซึ่งคนไทยเรียกกันว่า “หมากเตะ” จะมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังบ้านเรา จนกล่าวขนานนามว่าเป็น “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” คือรัชกาล "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ระหว่าง พ.ศ. 2453 - 2468

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ความอุปถัมภ์และส่งเสริมการกรีฑา (สมัยก่อนเรียก “กีฬา” ว่า “กรีฑา”) ทุกประเภท โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอล เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าการเล่นกีฬาเป็นทีม จะสามารถช่วยสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและก่อเกิดความรักชาติได้เป็นอย่างดี นอกจากพลานามัยที่สมบูรณ์อันจะเป็นกำลังสำคัญ เพื่อการพัฒนาประเทศ ในยุคการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก

 

ในขณะดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามกุฎราชกุมาร” พระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์จักรี ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก แซนด์เฮิสต์ (SANDHURST) ด้านการปกครองจากวิทยาลัยไครสเชิร์ช (CHRIST CHURCH COLLEGE) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (OXFORD UNIVERSITY) ประเทศอังกฤษ จึงทำให้พระองค์ทรงได้รับวัฒธรรมการเล่นกีฬาแบบชาวตะวันตก คือนอกจากการเรียนแล้ว นักเรียนทุกคนจะต้องมีกิจกรรมกีฬาอย่างน้อยหนึ่งประเภท เพื่อต้องการฝึกความอดทน ความสามัคคีและความเป็นสุภาพบุรุษ

 

“...จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ก็ได้ถูกส่งไปอยู่ในประเทศอังกฤษเสียนาน การอยู่ในประเทศอังกฤษ เขาบังคับให้เล่นกีฬาด้วย ฉะนั้น พระองค์จึงมีความสนพระทัยและชำนาญในกีฬาฟุตบอลมาก เมื่อพระองค์กลับมาถึงก็ได้นำมาเผยแพร่ และริเริ่มในประเทศไทย ตอนแรกทีเดียว ก็ได้จัดให้มีการเล่นและแข่งขันแต่เฉพาะในวงการทหาร และรู้สึกว่าได้รับการนิยมและสนใจดี ในขณะนั้น ต่อมาจึงได้รับความนิยมจากประชาชน..." (หนังสือ วิทยาลัยพลศึกษา / นายวรศักดิ์ มีเพียร / พ.ศ. 2505)

 

โดยการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวง คือรายการแรกที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2458 ณ สนามเสือป่าสวนดุสิต (ฝั่งตรงข้ามสวนอัมพร) อันถือเป็นฟุตบอลระดับผู้ใหญ่ที่จัดแข่งขันขึ้น ในแบบทัวร์นาเม้นต์เป็นครั้งแรกของเมืองสยาม สโมสรที่มีคะแนนอันดับหนึ่งจะได้รับ “ถ้วยทองหลวง” หรือ “ถ้วยทองของหลวง” ซึ่งทำด้วยเนื้อทองบริสุทธิ์ เป็นเกียรติยศแห่งความชนะเลิศ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกคณะฟุตบอลถ้วยทองหลวง ตลอดรัชสมัย (พ.ศ. 2458 - 2468)

 

ต่อมา รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ก่อตั้งคณะฟุตบอลสยาม (ทีมชาติไทย) ขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 ณ สนามสามัคยาจารย์สมาคม ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบ โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ “ตราพระมหามงกุฎ” เป็นเครื่องหมายเกียรติยศการรักชาติของนักเลงฟุตบอลทีมชาติสยาม นับแต่นั้นมา ภายหลังจากนั้นหนึ่งปี “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” จึงทรงโปรดเกล้าฯ จัดตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยาม (สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ขึ้น ณ วันที่ 25 เมษายน 2459 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นองค์กรเพื่อบริหารจัดการให้กีฬาฟุตบอลของประเทศมีความเจริญพัฒนาสืบไป

 

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยใหญ่ และถ้วยน้อย (ปัจจุบัน คือ ถ้วย ก และถ้วย ข) สำหรับให้คณะฟุตบอลแห่งสยามจัดการแข่งขันประเภทประชาชนทั่วไป เรียกกันว่า “ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประจำปี” โดยเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของทวีปเอเชีย และผู้นิยมกีฬาฟุตบอลของเมืองไทยมานานกว่า 9 ทศวรรษ

 

“...เมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยเป็นสมัยที่ทูลหม่อมลุง (รัชกาลที่ 6) กำลังโปรดทำนุบำรุงฟุตบอล ทรงตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งสยาม พระราชทานถ้วยหลวงประจำปีถึงสามถ้วย มีถ้วยใหญ่ ถ้วยน้อย และถ้วยนักรบ มีทีมเข้าเล่นชิงรางวัลถ้วยต่าง ๆ นั้นเป็นอันมาก และมักจะมีคนไปดูแน่นนับเป็นพัน ๆ...” (หนังสือ เกิดวังปารุสก์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ / พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ / ธันวาคม 2492)

 

อาจกล่าวได้ว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกีฬาฟุตบอลของสยามประเทศนานัปการ อาทิ การมอบพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบำรุงกิจการคณะฟุตบอลแห่งสยาม สำหรับจัดทำรางวัลตลอดจนชุดแข่งขันให้กับสโมสรต่าง ๆ แล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์บทความ “โคลนติดล้อ” ในหนังสือพิมพ์ไทย (พ.ศ. 2458) ใช้นามแฝงว่า “อัศวพาหุ” เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับวงการฟุตบอล เช่น เรื่อง “นักเลงฟุตบอลแสดงความกล้าหาญ”, “ฟุตบอลทำให้ร่าเริงจูงใจนักรบไปสู่ชัยชนะ”, “ระวังผีพนัน” ฯลฯ นอกจากนี้ ยังปรากฎภาพฝีพระหัตถ์ชนิดล้อเส้นลายหมึก เช่น “ศิลป์ศรไม่กินกัน” (พ.ศ. 2458), “พรานเก่งไหม” (พ.ศ. 2461) เป็นต้น

 

“...ตามหนังสือ กราบบังคมทูลพระกรุณาที่ 62/2628 ลงวันที่ 21 กับหนังสือที่ 65/2685 ลงวันที่ 26 เดือนนี้ ขอพระบรมราชานุญาตเบิกเงินค่าจัดทำถ้วยเงินและแหนบทองคำ สำหรับพระราชทานสโมสรฟุตบอล กับค่าเสื้อครุย สำหรับพระราชทานอาจารย์โรงเรียนราชวิทยาลัย รวมเปนเงิน 1,000 บาท เปนพิเศษนั้น ได้โปรดเกล้าให้กรมพระคลังข้างที่จ่ายเงินจำนวนนี้แล้ว..." (หนังสือกรมราชเลขาธิการ วันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2465)

 

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็นธงชาติของประเทศสยาม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2460 ต่อมา ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) จึงกลายมาเป็นตราสัญญลักษณ์ติดหน้าอกเสื้อของนักฟุตบอลทีมชาติไทยจนถึงทุกวันนี้

 

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2468 รัชกาลที่ 6 จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณะฟุตบอลแห่งสยาม ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FEDERATION INTERMATIONAL OF FOOTBALL ASSOCIATION) หรือฟีฟ่า (FIFA) และปลายปีเดียวกัน "องค์บิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 นับเป็นการสิ้นสุด “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” เนื่องจากการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวงหรือถ้วยทองนักรบจึงยุติลงไปด้วย

 

หากแต่กีฬาฟุตบอลยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนชาวไทย ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณ สมดังพระราชประสงค์ "องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม" ตราบชั่วกาลนาน .

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ