Web Analytics
บทความ นักเลงฟุตบอลแสดงความกล้าหาญ

บทความ เรื่อง “นักเลงฟุตบอลแสดงความกล้าหาญ”

ในวงการลูกหนังเมืองไทย นอกจากอนุสาวรีย์ อัศวิน ธงอินเนตร ผู้รักษาประตู ALL STAR คนแรกของทวีปเอเชียที่ตั้งอยู่ ณ สนามฟุตบอลสโมสรธนาคารกรุงเทพ บางนา แล้ว ยังมีอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งอันเกี่ยวเนื่องกับวีรกรรมนักเลงลูกหนังทีมชาติสยาม โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘



อนุสาวรีย์ดังกล่าว ยังคงตั...้งเด่นเป็นศรีสง่าบนเนินหินบริเวณลานด้านซ้ายขององค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม แม้ว่าปัจจุบันจะได้มีการสร้างสถูปเจดีย์สีขาวคลอบของเดิมซึ่งเป็นสีดำเอาไว้ โดยมีแผ่นโลหะร่มดำขนาดใหญ่จาลึกข้อความว่า

"แผ่นโลหะนี้ เพื่อนเสือป่าในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ กับผู้แทนสมาชิกกองเสนาหัวเมือง ได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นไว้เพื่อเปนอนุสาวรีย์แห่ง พลเสือป่าเชื้อ (บุตร์นายกล่ำ บ้านเชียงราก) สมาชิกกองม้าหลวงรักษาพระองค์ ผู้ที่ได้เสียชีพลงในขณะเมื่อทำการในน่าที่เสือป่า คือได้จมน้ำลงในคูพระราชวังสนามจันทร์ ขณะเมื่อซ้อมรบ ในเวลากลางคืนวันพุธที่ ๒ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๕๘..."

ความเป็นมาของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ อุบัติขึ้นในสมัยที่กล่าวขานกันว่า คือ "ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม" เมื่อรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงนำกองเสือป่าเดินทางออกจากพระนครไปซ้อมรบ ณ มณฑลนครไชยศรี และวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๘ เหล่านักรบเสือป่ากำลังซ้อมการลำเลียงพลข้ามคลอง ภายในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์อยู่นั้น ปรากฏว่า พลเสือป่าเชื้อ เกิดหมดแรงกะทันหันจนทำให้จมน้ำหายไป บรรดาเพื่อนเสือป่าจึงช่วยกันลงดำน้ำค้นหา หนึ่งในนั้น คือ พลเสือป่าตาด เสตะกสิกร นักฟุตบอลสโมสรกรมม้าหลวงและทีมชาติสยาม ซึ่งพยายามโดยสุดกำลัง กล่าวกันว่าคนอื่นจะล้มเลิกค้นหากันแล้ว แต่พลเสือป่าตาดยังคงไม่ย่อท้อกระทั้งพบร่างพลเสือป่าเชื้อ และนำขึ้นมาได้แม้ไม่อาจจะช่วยชีวิตได้ทันการณ์แล้ว

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เหล่าบรรดาเสือป่าจึงเรี่ยไรทรัพย์เพื่อช่วยเหลือครอบครัว พลเสือป่าเชื้อ รวมเป็นเงินสามพันบาท แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ ความจงรักภักดีเมื่อครั้งยังมีชีวิตของ พลเสือป่าเชื้อ อันมีต่อ “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” พระองค์จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสถูปเจดีย์พร้อมแผ่นป้ายโลหะจารึกข้อความขึ้น ณ องค์พระปฐมเจดีย์ นับแต่นั้นมา

นอกจากนี้ “องค์พระบิดาแห่งฟุตบอลเมืองสยาม” ได้ทรงพระราชทานเหรียญราชนิยมแก่ พลเสือป่าตาด เสตะกสิกร พร้อมบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง "นักเลงฟุตบอลแสดงความกล้าหาญ" เพื่อเชิดชูเกียรตินักฟุตบอลทีมชาติสยาม ผู้เสียสละช่วยชีวิตเพื่อนเสือป่า ดังความตอนหนึ่งว่า

“…การที่นายตาด เสตะกสิกร ผู้เปนนักเลงกรีฑาเก่งได้สำแดงตนเปนเสือป่าเก่งด้วยดังนี้ ย่อมจะเปนพยานแห่งความเชื่อมั่นของข้าพเจ้าที่ได้เคยมีอยู่แล้วว่า ผู้ที่กล้าในการเล่นฟุตบอลแล้ว ถ้าเมื่อมีโอกาสก็คงสำแดงให้ปรากฏว่าเปนคนกล้า นายตาด เสตะกสิกร ได้ประสบโอกาสเช่นนั้นแล้ว และได้สำแดงตนเปนคนกล้าจริง เพราะฉะนั้นการที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศและได้รับทรงชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเปนสิ่งซึ่งทำให้บังเกิดความชื่นชมยินดี ไม่จำเพาะแต่ในหมู่เพื่อนเสือป่าด้วยกัน ทั้งพวกผู้เล่นฟุตบอลและผู้ที่ได้เคยสรรเสริญความสามารถของนายตาด เสตะกสิกร ในสนามฟุตบอลก็พลอยพากันชื่นชมยินดีทั่วกันด้วย…”

ประวัติโดยสังเขปของ นายตาด เสตะกสิกร เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๓๖ เป็นชาวท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี บิดาชื่อเผือก และมารดาชื่อส้มลิ้ม มีอาชีพทำนา แต่ด้วยนิสัยฝักใฝ่หาความรู้ จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) ก่อนเข้าศึกษาวิชากฎหมาย ขณะเดียวกันยังสนใจการเล่นกีฬา โดยเฉพาะความสามารถด้านการเล่น "ฟุตบอล" จนต่อมาได้ลงแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวงให้กับสโมสรเสือป่ากรมม้าหลวง (พ.ศ. ๒๔๕๘) และสโมสรกระทรวงยุติธรรมชุดรองชนะเลิศถ้วยใหญ่ปีแรก (พ.ศ. ๒๔๕๙)

เมื่อมีการคัดเลือกนักเลงฟุตบอลเพื่อเป็นตัวแทนของชาติ นายตาด เสตะกสิกร จึงได้รับหนังสือเชิญ และถูกคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๑ คนของทีมชาติชุดแรกแห่งสยามประเทศ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ ต่อเมื่ออายุ ๒๓ ปี จึงได้รับตำแหน่งหัวหน้ากองคดี กรมอัยการ พร้อมทั้งสมัครเข้าเป็นเสือป่าตามสมัยนิยม ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงอัฌชาคดี"

ต่อมา เมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จสวรรคต นายตาด จึงขอลาออกจากราชการและไปประกอบอาชีพส่วนตัวที่สุพรรณบุรี ก่อนย้ายมาเป็นทนายความอยู่ที่ชลบุรี จนได้รับการยกย่องในฐานะทนายผู้ว่าความให้ประชาชนด้วยความสุจริตและยุติธรรม ดังปรากฏในหนังสืองานศพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ว่า

"...ท่านเล่าว่า เคยฟ้องเศรษฐีใหญ่คนหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องที่ดิน เศรษฐีคนนั้นมาให้เงินท่านขอให้ล้มความ ท่านไม่ยอม และว่าความจนคดีนั้นชนะ ต่อมา เศรษฐีคนนั้นกลับมาใช้คุณพ่อเป็นทนายประจำจนตาย เพราะเชื่อถือและไว้ใจว่าทนายคนนี้ไว้ใจได้ ไม่เหยียบเรือสองแคม และสอนให้ลูกยึดถือปฏิบัติตลอดมา ในอุดมคติที่ว่าเกียรติยศชื่อเสียง ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน..." (นายวิรัตน์ เสตะกสิกร ผู้เขียน)

ดังนั้น สถูปเจดีย์ พลเสือป่าเชื้อ ณ ลานองค์พระปฐมเจดีย์ จึงเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งที่มีตำนานแห่งความเสียสละของนักเลงฟุตบอลแสดงความกล้าหาญ ดังบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงเตือนสตินักฟุตบอล "ตราพระมหามงกุฎ" ทั้งหลาย ให้ควรตระหนักถึงเกียรติภูมิความเป็นนักกีฬาทีมชาติสยาม สืบไปตราบเท่านาน.

จิรัฎฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ