บทความ เรื่อง "อาเซี่ยนคัพ 1996"
เมื่อสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC.) วางแนวนโยบายให้การแข่งขันลูกหนังกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 (พ.ศ.2544) ณ ประเทศมาเลเซีย ผู้เล่นจะต้องมีอายุไม่เกิน 23 ปี เพื่อสอดคล้องกับฟุตบอลโอลิมปิก ดังนั้น ภาคีอาเซียนจึงดำเนินการก่อตั้ง “สหพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียน” (AFF.) ขึ้น พร้อมทั้งจัดทัวร์นาเม้นต์ของทีมชาติชุดใหญ่ โดยกำหนดให้มีขึ้นสลับกับซีเกมส์ เรียกชื่อรายการว่า “ฟุตบอลอาเซี่ยนคัพ” (THE ASEAN FOOTBALL CHAMPIONSHIP) หรือรู้จักทั่วไปตามชื่อผู้สนับสนุน สมัยนั้นว่า “ไทเกอร์ คัพ” (TIGER CUP)
ทีมชาติไทยชุดอาเซี่ยนคัพ (พ.ศ. 2539) จำนวน 18 คน คือ ผู้รักษาประตู วัชรพงศ์ สมจิตร, นิพนธ์ มาลานนท์ กองหลัง นที ทองสุขแก้ว (หัวหน้าทีม), พัฒธนพงศ์ ศรีปราโมช, ทิวากร สุขสด, สุรชัย จิระศิริโชติ, จักรราช โทนหงษา, เสนาะ โล่งสว่าง กองกลาง สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, กฤษดา เพี้ยนดิษฐ์, ดุสิต เฉลิมแสน, อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์, ยุทธนา พลศักดิ์ กองหน้า สมาน ดีสันเทียะ, เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, พิทยา สันตะวงศ์ และวรวุฒิ ศรีมะฆะ มี นายธวัชชัย สัจจกุล เป็นหัวหน้าสตาฟฟ์โค้ช นายสมชาติ ยิ้มศิริ และนายสมศักดิ์ เซ็นเชาวนิช เป็นผู้ช่วยโค้ช นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นผู้จัดการทีม
อนึ่ง ก่อนรายการดังกล่าวจะเริ่มขึ้น “ขงเบ้งลูกหนังเมืองไทย” นายอาจหาญ ทรงงามทรัพย์ หัวหน้าสตาฟฟ์โค้ชทีมชาติไทย ติดเข้ารับการอบรมผู้ฝึกสอนที่ประเทศเยอรมนี จึงทำให้ “บิ๊กหอย” นายธวัชชัย สัจจกุล จำต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโค้ชครั้งแรก ท่ามกลางความสนใจของหลายฝ่าย เนื่องจากผลงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ทีมธงไตรรงค์ยังไม่ประสบความสำเร็จในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ เลย นั้นเอง
การแข่งขันฟุตบอลอาเซี่ยน ไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 กันยายน 2539 ณ ประเทศสิงคโปร์ มีทีมส่งชิงชัยครบทั้ง 10 ชาติ แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สาย A มี ทีมชาติกัมพูชา, ทีมชาติเมียนมาร์, ทีมชาติลาว, ทีมชาติเวียดนาม และทีมชาติอินโดนีเซีย และสาย B มี ทีมชาติบรูไน, ทีมชาติฟิลิปปินส์, ทีมชาติมาเลเซีย, ทีมชาติไทย และทีมชาติสิงคโปร์ (เจ้าภาพ)
2 กันยายน 2539 ทีมชาติฟิลิปปินส์ พบ ทีมชาติไทย มีคนไทยเข้ามาเชียร์ประมาณ 500 คน ทีมตากาล็อกมีตัวชุดซีเกมส์ 2 คน นอกนั้นใช้นักเตะใหม่อายุเฉลี่ย 20 ปี เริ่มเขี่ยบอลก่อน แต่ทีมไทยก็ตัดกลับมาได้อย่างรวดเร็ว น.10 “เจ้าง้วน” สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ เปิดลูกเข้ากลาง พิทยา สันตะวงศ์ สับไกเต็มข้อเป็นประตูแรกในนามทีมชาติของตนเอง 1-0 น.15 “จอมตีลังกา” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ยิงระยะ 25 หลาลูกพุ่งเสียบมุมบน 2-0 น.39 เกียรติศักดิ์ แทงบอลจากกลางสนามทะลุแผงหลัง พิทยา วิ่งแซงแล้วจิ้มลูกตุงตาข่าย 3-0 และน. 41 เกิดการชุลมุนหน้ากรอบเขตประตูก่อนบอลหลุดไปเข้าเท้า “อัลเฟรด” เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ จึงแปง่าย ๆ ให้ทีมไทยขึ้นนำ ครึ่งแรก 4-0
ครึ่งหลัง “เจ้ามัน” อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ ลงแทน “เจ้ารถถังปากน้ำโพ” เสนาะ โล่งสว่าง น.56 “ปีกปลาร้า” สมาน ดีสันเทียะ ลงแทน พิทยา น.60 “แบ็กซ้ายดาราเอเชีย” ดุสิต เฉลิมแสน ผ่านบอลจากกาบซ้าย สมาน วิ่งหลอกเสาแรกให้ลูกเลยไปเสาสองแล้วเป็น เนติพงษ์ ซัลโวเผาขนสกอร์ปิดเกม ทีมไทย ชนะ ทีมฟิลิปปินส์ 5-0
6 กันยายน 2539 ทีมชาติบรูไน พบ ทีมชาติไทย แฟนฟุตบอลประมาณ 5,000 คน โดยเป็นชาวไทยกว่าครึ่งพัน ขุนพลนักเตะลุ่มเจ้าพระยากดดันจนผู้เล่นบรูไนทั้ง 10 คน ต้องถอยร่นลงไปตั้งรับในแดนตนเอง น.15 เนติพงษ์ ปาดบอลจากเส้นหลังมาหน้าประตู พิทยา ยืนโขกลูกตุงตาข่าย 1-0 น.20 เนติพงษ์ ใช้มือเล่นเป็นใบเหลือง น.24 เนติพงษ์ แก้ตัวด้วยการยื่นสตั๊ดจิ้มบอลผ่านข้ามเส้นเข้าประตู 2-0 น.27 “เจ้าโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ ลงแทน สุรชัย (ง้วน) และน. 53 วรวุธ ได้จังหวะปั่นฟรีคิกระยะ 20 หลาไซด์หนีมือนายทวารบรูไน จบครึ่งแรก 3-0
ช่วง 45 นาทีสุดท้าย ทีมธงไตรรงค์ไม่เร่งเกมเหมือน 45 นาทีแรก น.55 สมาน ลงแทน พิทยา น. 65 สมาน ทำชิ่งในเขตโทษให้ วรวุฒิ หลุดเข้าไปยิงเสียบเสาแรก 4-0 น.71 “เจ้าจั๊บ” สุรชัย จิระศิริโชค ลงแทน ยุทธนา พลศักดิ์ แล้ว น.75 สุรชัย (จั๊บ) ส่งบอลทะลุช่อง เกียรติศักดิ์ ตวัดลูกผ่าแสกหน้าผู้รักษาประตู 5-0 และ น.86 เสนาะ ชิพบอลให้ เนติพงษ์ วอลเลย์มุมแคบกระแทกตาข่ายด้านใน ทีมไทย ถล่ม ทีมบรูไน 6-0
8 กันยายน 2539 ทีมชาติมาเลเซีย พบ ทีมชาติไทย แมตช์นี้มีชาวไทยเข้ามาให้กำลังใจเพื่อนร่วมชาติกว่า 3,000 คน ขุนพลธงไตรรงค์เปิดฉากลุยทันทีและพับสนามบุกเป็นระลอก น.28 เกียรติศักดิ์ เลี้ยงลูกหลบกองหลังแล้วโยกหลอก ไตรุล อัสมัน โมฮัมหมัด นายทวารเสือเหลืองจนยืนขาตาย ก่อนสับไกสังหารสกอร์ขึ้นนำ ครึ่งแรก 1-0
ครึ่งหลัง ทีมเสือเหลืองเริ่มไล่บี้ตั้งแต่กลางสนาม ทีมไทยต้องเปลี่ยนแผนมาใช้การสาดบอลยาวไปข้างหน้า น.56 สุรชัย (จั๊บ) ดับเครื่องชนผู้เล่นมาเลย์ได้ใบเหลือง และจากลูกฟรีคิกบนเส้นกรอบเขตโทษ 18 หลา “เจ้าตูดง้อน” ไซนัล อบีดีน ฮัสซัน จึงปั่นบอลมุดเข้าเสาแรกตีเสมอเป็น 1-1 น.63 ยุทธนา ลงเล่นแทน สุรชัย (จั๊บ) ได้เพียง 1 นาทีก็โดนใบเหลือง แต่ทีมเสือเหลืองกลับต้องมาเหลือนักเตะแค่ 10 คน เพราะเจตนาเตะลูกทิ้งเพื่อถ่วงเวลา เกมตกเป็นของทีมจากแดนสยามบ้าง หากจังหวะสุดท้ายกลับพลาดกันเองหมด ทีมไทย เสมอ ทีมมาเลเซีย 1-1
10 กันยายน 2539 ทีมชาติสิงคโปร์ พบ ทีมชาติไทย มีผู้ชมประมาณ 50,000 คน ทีมลอดช่องนำทัพโดย “เจ้าชายลูกหนัง” ฟานดี้ อาหมัด เกมนี้เจ้าถิ่นจะต้อง “ไม่แพ้” จึงพยายามเปิดเกมรุกเข้าใส่ทีมเยือนอย่างหนัก น.15 “ดำเล็ก” กฤษดา เพี้ยนดิษฐ์ เสียบนักเตะสิงคโปร์จนถูกใบเหลือง เนติพงษ์ ลงมาแทน สุรชัย (ง้วน) น.39 วรวุธ ลงแทน พิทยา ครึ่งแรก 0-0
น.65 ยุทธนา ลงแทน พัฒธนพงศ์ น.68 ดุสิต โยนบอลจากนอกเขตโทษ เนติพงษ์ ตามซัดกึ่งวอลเลย์ลูกพุ่งเข้าหากรอบประตู ลิม ตอง ไห่ ที่ยืนคุมเสาพยายามจะขึ้นโหม่งสกัด ทว่าผิดเหลี่ยมเข้าตาข่ายตัวเอง จบเกม ทีมไทย ชนะ ทีมสิงคโปร์ 1-0 ทำให้แฟนลูกหนังเจ้าภาพซึ่งไม่พอใจผลงานของทีมตนเอง ถึงกับขว้างปาสิ่งของลงมายังกลางสนาม
รอบรองชนะเลิศ 13 กันยายน 2539 ทีมชาติเวียดนาม พบ ทีมชาติไทย มีแฟนฟุตบอลประมาณ 10,000 คน เมื่อกรรมการเป่าเริ่มเกม นักเตะทั้งสองทีมติดดาบบุกเข้าใส่กันอย่างสนุก น.3 กฤษดา วางบอลยาวจากกลางสนามให้ เกียรติศักดิ์ ลากถึงเส้นเขตโทษแล้วก่อนซัดผ่าน เหงียน วัน ดุง นายทวารญวนล้มตัวรับลูกไม่ทัน ทีมไทยขึ้นนำ 1-0 ทีมเวียดนามเติมเกมรุกมากกว่าเดิม แต่ยังติดแผงกองกลางของทีมธงไตรรงค์ น.9 นที หลุดเดี่ยวก่อนจังหวะสุดท้ายส่งให้ เนติพงษ์ วิ่งจิ้มบอลเข้าประตู 2-0 น.24 ผู้เล่นสกุลเหงียนเช็คล้ำหน้าพลาด พิทยา เกี่ยวหลบผู้รักษาประตูแล้วแปให้ เนติพงษ์ ซัดตุงตาข่าย 3-0
น.59 กองหลังเวียดนามสกัดมาเข้าทาง วรวุธ ยิงสวนเป็นสกอร์ 4-0 ในจังหวะนั้นกุนซือของเวียดนาม มร.คาร์ล ไฮซ์ ไวกัง ชาวเยอรมันเดินเข้าไปต่อว่าผู้ตัดสิน จนต้องถูกเชิญออกจากข้างสนาม น.65 ยุทธนา ลงแทน สมาน น.83 สุรชัย (จั๊บ) ทำแฮนด์บอล โว บวง บู นักเตะญวนจึงสำเร็จโทษตามมาห่าง ๆ ด้วยสกอร์ 1-4 น.88 เหงียน ฮอง ซอน หลุดเข้ายิงเป็นประตู 2-4 แต่ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว
รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลอาเซี่ยน ไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 1 วันที่ 15 กันยายน 2539 ณ สนามเมอร์ไลอ้อน ทีมชาติมาเลเซีย พบ ทีมชาติไทย ท่ามกลางคอลูกหนังราวกว่า 10,000 คน โดยแฟนบอลส่วนใหญ่ส่งเสียงเชียร์นักเตะเสือเหลือง เพื่อต้องการเห็นทีมไทยตกจากบัลลังก์เจ้าอาเซียน
นักเตะสยามสวมชุดสีน้ำเงินเปิดฉากลุยทันที น.9 เกียรติศักดิ์ ลากลูกจากกาบซ้ายเข้ามาในเขตโทษแล้วโยกหลบ ไซนัล อบีดีน ก่อนยิงบอลระยะ 15 หลา พุ่งผ่านนายทวารมาเลย์เข้าไปนอนสงบนิ่งที่ก้นตาข่าย ทีมไทยขึ้นนำ 1-0 น.21 พิทยา ลงแทน สุรชัย (ง้วน) นักเตะเสือเหลืองสร้างสรรค์เกมรุกได้น่ากลัวขึ้นตามลำดับ น.30 จักรราช ลงแทน อภิชาติ จบครึ่งแรก 1-0
ช่วง 45 นาทีสุดท้ายของครึ่งหลัง ทีมมาเลย์โหมบุกหนักกว่าครึ่งแรก น.47 วรวุธ ดึงเสื้อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจนได้ใบเหลือง น.55 ไซนัล อบีดีน เขี่ยลูกให้ เย็บ ไว รุน ซัดโทษสองจังหวะ “ซุปเปอร์ระ” วัชรพงศ์ สมจิตร บล็อกไว้ทัน น.75 ยุทธนา ลงแทน พิทยา ทีมลุ่มเจ้าพระยาเน้นเกมรับและรอโต้กลับ ในขณะที่ผู้ตัดสินต่อเวลาออกไปถึง 4 นาที ก่อนจะเป่านกหวีดหมดเวลาการแข่งขัน ทีมไทย เฉือนชัย ทีมมาเลเซีย อย่างหวุดหวิด 1-0 ครองถ้วยไทเกอร์ คัพ เป็นทีมแรกของอาเซียน โดยตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุด จำนวน 5 ประตู คือ ผู้เล่นหมายเลข 9 เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ และแมน ออฟ เดอะ แมตช์ (MAN OF THE MATCH) เป็นของนักเตะหมายเลข 13 เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง นักฟุตบอลทีมชาติไทยทั้งสองคน
อาจกล่าวได้ว่า นับจากสิ้นสุดยุค “นายพันลูกหนัง” พล.อ.ประเทียบ เทศวิศาล ผู้ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะโค้ชและผู้จัดการทีมชาติไทย เมื่อทศวรรษที่ 60 (ถ้วยทองเยาวชนแห่งเอเชีย พ.ศ.2505, เหรียญทองกีฬาแหลมทอง พ.ศ.2508, โอลิมปิก รอบสุดท้าย ค.ศ.1968) ต่อมา คือ นายธวัชชัย สัจจกุล แม้ว่าจะไม่เคยพาทีมไทยเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายของฟุตบอลโอลิมปิกได้สำเร็จ แต่ความทุ่มเทและมุ่งมั่น จึงสามารถสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นทั้งผู้ฝึกสอนและผู้จัดการทีมชาติไทยที่ทำทีมชนะเลิศมากที่สุด ในทศวรรษที่ 90 รวม 3 ทัวร์นาเม้นต์กับ 4 แชมป์ คือ เหรียญทองกีฬาซีเกมส์ 2 สมัย (ครั้งที่ 17 พ.ศ.2536, ครั้งที่ 18 พ.ศ.2538), อินดิเพนเด้นท์ คัพ ครั้งที่ 7 (พ.ศ.2537) และอาเซี่ยน ไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2539) อีกหนึ่งบุคคลที่ควรค่าแห่งความทรงจำในตำนานของวงการลูกหนังเมืองไทย.
จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ