Web Analytics
บทความ ก้าวแรกของความสำเร็จ ASIAN YOUTH 1962

บทความ เรื่อง "ก้าวแรกของความสำเร็จ ASIAN YOUTH 1962"

 

…26 เมษายน 2505 ทีมเยาวชนไทย ชนะ ทีมเยาวชนเกาหลีใต้ 2 - 1…

 

49 ปี ที่ผ่านมา ทีมเยาวชนไทยสามารถเอาชนะทีมเยาวชนเกาหลีใต้ ในการแข่งขันชิงชนะเลิศเยาวชนแห่งเอเชีย ชิงถ้วยทอง ตวนกู อับดุล ราห์มาน ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ รอบแรก ทีมเยาวชนไทยสามารถเอาชนะทีมเยาวชนญี่ปุ่น 2 - 0, ทีมเยาวชนพม่า 1 - 0, เสมอ ทีมเยาวชนมาเลเซีย 1 - 1 และ เสมอ ทีมเยาวชนเวียดนามใต้ 1 – 1

 

โดยในการแข่งขันรอบแรกนัดสุดท้าย พบกับทีมเยาวชนเวียดนามใต้ นักเตะเยาวชนเจ้าถิ่นขยับสกอร์ขึ้นนำไปก่อน 1 - 0 และหากป้องกันไม่ให้เสียประตู ทีมไทยก็จะได้เข้าชิงชนะเลิศกับอีกสายหนึ่งทันที แต่หลังจากขึ้นนำแล้ว ทีมเยาวชนไทยเริ่มเล่นแบบถ่วงเวลา เริ่มตั้งแต่การทุ่มบอลเข้ามาจากข้างสนาม หรือการตั้งเตะจากเขตประตู เพื่อต้องการใช้เวลาให้นานที่สุด ในสมัยนั้นยังไม่มีลูกฟุตบอลสำรองข้างสนาม และไม่มีการต่อเวลานอกเช่นปัจจุบัน ทุกครั้งที่ลูกบอลจะออกจากสนาม พวกเรามักจะเตะออกไปให้ไกลที่สุด โดยใช่เหตุ การถ่วงเวลาต่าง ๆ นานานั้น จึงทำให้ผู้เข้าชมชาวไทยรอบสนามส่วนใหญ่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะแสดงถึงการขาดความมีน้ำใจนักกีฬา ดังนั้น แฟนฟุตบอลจึงเริ่มตะโกนด่า โห่ร้อง ตลอดเกมที่เหลืออยู่เมื่อทีมเยาวชนไทยได้ครอบครองลูก ไม่เพียงเท่านั้น ทีมเยาวชนเวียดนามใต้กลับสามารถทำประตูได้ก่อนหมดเวลาการแข่งขัน จึงเสมอกัน 1 – 1

 

ผลการแข่งขันแมตช์ดังกล่าว รวมทั้งการด่าทอจากบรรดาแฟนฟุตบอลคนไทยด้วยกัน ทำให้พวกเรามีความกดดันเป็นอย่างมาก ประกอบกับการฝึกซ้อมกันอย่างหนักมาตลอด 3 - 4 เดือนเต็ม ๆ ที่ผ่านมา จึงมีความคิดร่วมกันว่าจะถือโอกาสออกจากที่พัก (หอพักของนักฟุตบอลเยาวชนทุกชาติ) โดยนัดพบกันที่สนามศุภฯ เพื่อต้องการดูผลการแข่งขันของทีมเยาวชนมาเลเซีย ซึ่งมีคะแนนรองจากทีมไทย แต่เหตุการณ์ไม่ใช่ของง่ายอย่างที่คิดกัน

 

เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เนื่องจากเช้าวันรุ่งขึ้น “ตวนกู อับดุล ราห์มาน” นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งถือโอกาสเข้าเยี่ยมนักฟุตบอลเยาวชนของทุกชาติที่หอพักนักกีฬา แต่ปรากฎว่า นักเตะเยาวชนไทยหายตัวไปหมด (เหลืออยู่คนเดียว) ทำให้หนังสือพิมพ์ลงข่าว “ทีมเยาวชนไทยแหกค่าย” จึงทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา เนื่องจากทัวร์นาเม้นต์ยังไม่สิ้นสุด อีกทั้งทีมเยาวชนไทยยังมีโอกาสได้ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ในขณะเดียวกันผลการแข่งขันก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังกันเอาไว้ เมื่อทีมเยาวชนมาเลเซียสามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้ในคืนนั้น ทำให้มีคะแนนเท่ากับทีมเยาวชนไทย แต่ผลต่างของประตูได้-เสีย ดีกว่าทีมเจ้าบ้าน ซึ่งควรจะได้เข้าชิงชนะเลิศกับทีมเยาวชนเกาหลีใต้

แต่เนื่องจากประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ จึงไม่ยอมรับการนับประตูได้-เสีย ประกอบกับในที่ประชุมไม่ได้ทำการระบุถึงกฎดังกล่าวเอาไว้ก่อนการแข่งขัน

 

จึงต้องมีการจัดแมตช์ระหว่าง ทีมเยาวชนไทย - ทีมเยาวชนมาเลเซีย เพื่อหาผู้ชนะเข้าไปชิงกับทีมเยาวชนเกาหลีใต้ ผลจากการแหกค่ายในครั้งนั้น ทำให้ต้องมีการปรับแผนและจัดวางตัวผู้เล่นกันใหม่ทั้งหมด สำหรับการลงตัดเชือกกับ “เสือเหลือง” มาเลเซีย แต่ก็กลับกลายเป็นผลดี เพราะเริ่มการแข่งขันได้ไม่นาน ประเดิม ม่วงเกษม ซึ่งลงสนามเป็นนัดแรก สามารถทำประตูได้อย่างรวดเร็ว แบบที่ทีมมาเลเซียเองตั้งตัวไม่ติด เมื่อทีมเยาวชนไทยนำไปก่อน 2 - 0 ในครึ่งแรก ก่อนจบ 80 นาที ด้วยผลบนสกอร์บอร์ด 3 - 0 เป็นอันว่าทีมเยาวชนไทยได้เข้าชิงชนะเลิศแห่งเอเชียอย่างสมศักดิ์ศรี พบกับทีมเยาวชนเกาหลีใต้ “ตัวเก็ง” ของทัวร์นาเม้นต์

 

26 เมษายน 2505 ณ สนามศุภชลาศัยฯ มีแฟนฟุตบอลแห่แหนกันเข้ามาเชียร์มากกว่าที่คาดการณ์ จนส่วนหนึ่งต้องมานั่งรอบขอบสนามฟุตบอลบนลู่กรีฑา โดยตอนแรกทีมเยาวชนเกาหลีใต้จะไม่ยอมลงเล่น เพราะเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัย แต่ก็ไม่ทางเลือก

 

ในครึ่งแรก ทีมเยาวชนเกาหลีใต้ขึ้นนำไปก่อน 1 - 0 ทีมเยาวชนไทยสามารถตีเสมอได้สำเร็จช่วงครึ่งเวลาหลัง จากการยิงของ ทวีพงษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (กัปตันทีม) โดยลูกบอลแฉลบหัวผู้เล่นกองหลังเกาหลีใต้เข้าประตู เสมอกัน 1 - 1 จากนั้นการแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น จนถึงวินาทีสุดท้าย เมื่อทีมเยาวชนไทยได้ลูกเตะมุม พวกเราทุกคนยกเว้นแต่ผู้รักษาประตู ต่างเข้าไปยืนอยู่ในกรอบเขตโทษของเกาหลีใต้ ทวีพงษ์ ส่งลูกย้อยเข้ามา จนเกิดการชุลมุนหน้าประตู ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร ลูกบอลผ่านเส้นประตูเข้าไปซุกที่ก้นตาข่าย ทีมเยาวชนไทยขึ้นนำเป็นครั้งแรก 2 - 1 ก่อนที่กรรมการจะเป่าหมดเวลาการแข่งขัน (ในสมัยนั้นเล่นเพียง 40 นาที)

 

ในสมัยนั้น ยังไม่มีการบันทึกภาพหรือถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ทำประตูชัยให้กับทีมเยาวชนไทย ซึ่งหลายคนต่างก็อ้างว่าเป็นคนสุดท้ายที่เตะถูกลูกฟุตบอล แต่ที่สำคัญ คือทีมเยาวชนชาติไทยเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 ปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ความสำเร็จครั้งแรกของวงการลูกหนังไทย

 

ความสำเร็จของทีมเยาวชนไทยครั้งนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นทีมที่มีระเบียบวินัย ความอดทน เข็มงวดและความตั้งใจจริงร่วมกัน ภายใต้การนำทัพของ “นายพันลูกหนัง” พ.ต. ประเทียบ เทศวิศาล (ปัจจุบันยศ “พลเอก”) และนายสมชาย ศิวะโกเศส รวมทั้งความรักใคร่ ปรองดองของทีม ภายใต้การนำของ ทวีพงษ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และสมศักดิ์ อ่อนสมา พวกเราได้สร้างบันทึกให้วันที่ 26 เมษายน เป็นวันสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของการลงเล่นในนามทีมชาติไทย

 

ผู้เล่นทีมเยาวชนไทยชุดนั้น ได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมชาติไทย (ชุดใหญ่) ชนะเลิศร่วมกับทีมชาติพม่า ในกีฬาแหลมทอง ณ ประเทศมาเลเซีย ปี พ.ศ. 2508 รวมถึงเข้าร่วมการแข่งขันลูกหนังกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2509 โดยมีนักฟุตบอล รวม 3 คน (ณรงค์ สังขสุวรรณ์, ประเดิม ม่วงเกษม และยงยุทธ สังขโกวิท) ได้ติดทีมชาติไทยชุดโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ นครเม็กซิโก ซิตี้ ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) และที่สำคัญอีกหลายคนได้รับมอบหมายให้เป็นโค้ชทีมชาติไทย ในสมัยต่อมา.

 

ยงยุทธ สังขโกวิท ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ