Web Analytics
ถ้วยทองของหลวง

บทความ เรื่อง “ถ้วยทองของหลวง”

 

นับจากการแข่งขันฟุตบอลกติกา ร.ศ. 119 หรือ พ.ศ. 2443 อย่างเป็นทางการแล้วในสยามประเทศ กรมศึกษาธิการจึงจัดลูกหนังนักเรียนชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ ขึ้นในปี พ.ศ. 2444 แต่หลังจากนั้นถึง 14 ปี จึงเกิดมีทัวร์นาเมนท์ระดับสโมสรขึ้นเป็นครั้งแรก

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริให้จัด “การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง” โดยถ้วยรางวัลทำด้วยทองคำแท้ขนาดย่อม นอกจากนี้พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งสภานายกคณะฟุตบอลถ้วยทองของหลวง ตลอดรัชสมัย (พ.ศ. 2458-2468)

 

การแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวงครั้งแรก มีขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2458 ณ สนามเสือป่า สวนดุสิต ถนนหน้าพระลาน มีสโมสรส่งเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 12 ทีม ได้แก่นักเรียนนายร้อยทหารบก, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนตำรวจภูธร, นักเรียนสารวัตร, กรมนักเรียนเสือป่าหลวง, เสือป่าเสนากลาง, เสือป่ากองพันพิเศษ รักษาพระองค์, กรมเสือป่าราบหลวง, กรมพรานหลวง, กรมเสือป่าม้าหลวง, กรมทหารมหาดเล็ก และกรมทหารรักษาวัง

 

โดยคณะกรรมการถ้วยทองของหลวง ได้จัดพิมพ์สมุดระเบียบการแข่งขันและให้เปลี่ยนการเรียก “ประตู” แทนคำว่า “โกล์” เพื่อความเข้าใจทั่วกัน โดยยังเป็นรายการแรกที่เก็บเงินค่าผ่านประตู ดังนี้ ชั้นที่หนึ่ง (นั่งเก้าอี้) ราคา 1 บาท, ชั้นที่สอง (นั่งอัฒจันทร์) ราคา 50 สตางค์ และชั้นที่สาม (รอบเส้นข้างสนาม) ราคา 10 สตางค์ สำหรับนัดสำคัญจะมีผู้เข้าชมถึง 8,000 คน ส่วนรายได้ทั้งสิ้นตลอดการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 6,049.95 บาท ซึ่งภายหลังคณะกรรมการฯ มอบให้ราชนาวีสมาคมและสภากาชาด ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

 

เมื่อแข่งขันกันครบ 29 นัด ผลปรากฎว่า “สโมสรนักเรียนนายเรือ” ที่กล่าวกันว่า “เสด็จเตี๋ย” กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนนายเรือของประเทศอังกฤษ คือผู้นำกีฬาลูกหนังเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนนายเรือ มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 จากการลงสนามแบบพบกันหมด จึงได้ครองถ้วยทองของหลวงเป็นสโมสรแรก ก่อนมีพิธีพระราชทานถ้วยทองและแหนบสายนาฬิกาลงยามีตรามหามงกุฎ ในวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2458 ณ สนามเสือป่า โดยปรากฎหลักฐานลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๒ หน้า ๑๘๑๕

 

รายนามนักฟุตบอลทีมนายเรือชุดถ้วยทองหลวง พ.ศ. 2458 คือ นายสวัสดิ์ เดชะไกสะยะ (นาวาตรี หลวงสวัสดิ์ เดชไพศาลย์), นายแหวน (เรือตรี แหวน กัณหวยัคฆ์), นายแดง (นาวาเอก หลวงสำแดง พิชชาโชติ), นายดำ ทังสุบุตร (นาวาโท หลวงขยันสงคราม), นายสวัสดิ์ ศิริเวทย์, นายสุภี จันทนมาศ (นาวาเอก หลวงสุภีอุทกธาร), นายเจียม เจียรกุล (พลเรือโท หลวงเจียรกลการ), นายภูหิน สถาวรวณิช, นายลอย ปสุตนาวิน (เรือเอก ลอย ปสุตนาวิน), หม่อมราชวงศ์พงษ์ นวรัตน์ (นาวาตรี หลวงพงษ์ นวรัตน์) และนายเจริญ (พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา) เป็นหัวหน้าทีม

 

ในปัจจุบัน “ถ้วยทองของหลวง” ใบแรกในของวงการกีฬาฟุตบอลเมืองไทย มีอายุกว่า 97 ปี ยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ณ โรงเรียนนายเรือ เนื่องด้วยคณะกรรมการถ้วยทองฯ ในขณะนั้น มิได้แจ้งไว้ว่าต้องคืน จึงทำให้ปีต่อมา ต้องมีการแจ้งในกฎกติกาว่า “ให้ครอบครองเพียง 1 ปี แล้วส่งคืน และสโมสรที่จะได้เป็นกรรมสิทธิ์จะต้องชนะเลิศ 3 ปีติดต่อกัน” อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของตำนานลูกหนังแผ่นดินสยาม.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ