Web Analytics
บทความ มร.สมิธ ผู้ยิงประตูแรกในสยาม

บทความ เรื่อง "มร.สมิธ ผู้ยิงประตูแรกในสยาม"

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2443 ณ ทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวง การแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการ ระหว่าง ทีมศึกษาธิการ กับ ทีมบางกอก ผลเสมอกัน 2 – 2 โดยประตูขึ้นนำครึ่งแรก 1 – 0 นั้น คือการทำประตูแรกของ “Association football” ในเมืองสยาม เป็นฝีเท้าการยิงของ “ครูนักกีฬา” อดีตนักเตะตำแหน่งกองหน้าทีมแอสตัน วิลลา 11 จากประเทศอังกฤษ

 

มร.เออร์เนส สเปนช์ สมิธ (Mr.Emest Spence Smith) เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1873 (พ.ศ. 2416) ณ เมืองมิดเดิลสเบอร์เบอร์ (Middlesborough) มณฑลยอร์กเชียร (Yorkeshire) ประเทศอังกฤษ เริ่มเรียนหนังสือโรงเรียนไฮสกูล และศึกษาต่อ วิทยาลัยเบอโร โรด (Borough Road College,lsleworth) จนเรียนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2435 สถาบันดังกล่าวกระทรวงธรรมการได้ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาครูเป็นแห่งแรก

 

“…นอกจากจะดีในการเรียนแล้ว ครูสมิธยังเก่งในทางกีฬาอีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 2 ประการนี้ ไม่ใคร่จะพบอยู่ในคนๆเดียวกันบ่อยนัก ครูสมิธเป็นนักกีฬาตัวเยี่ยมของวิทยาลัย กี่ฬาที่ชอบที่สุดคือฟุตบอล โดยเฉพาะตำแหน่งกองหน้า เล่นได้ดีจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เล่นในชุดของแอสตัล วิลล่า 11 (Aston Villa XI) ของลอนดอน...” (ประวัติครู ของคุรุสภา/หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ/16 มกราคม พ.ศ. 2501)

 

ต่อมา เมื่อสยามประเทศเริ่มบุกเบิกการเรียนการสอนแบบประเทศทางตะวันตก รัฐบาลจึงได้จ้างชาวอังกฤษที่จบจากวิทยาลัยเบอโร โรด อาทิ มร.ดับลิว.ยี.ยอนสัน, มร.เทรยส์, มร.ฟิลิปส์, มร.ออลโลเวย์, มร.เจ.เอช.เชดจ์วิก, มร.เอน.แอล เวลลี่ย์ และมร.เอ.ซี.เซอร์ชิลล์ ได้เข้ามาเป็นครูประจำตามโรงเรียนหลายแห่งในพระนคร ทำให้มร.สมิธ ตัดสินใจเดินทางมารับราชการ ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 ตำแหน่งครูของกรมศึกษาธิการ ก่อนได้แต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (พ.ศ.2440 – 2446) แผนกภาษาอังกฤษ และมีหน้าที่การงานสูงขึ้นตามลำดับ

 

โดยตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายคือผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ (ประมาณ พ.ศ. 2460 – 2463) อันเป็นกรมที่มีโรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร

 

“…ครูสมิธได้ทำหน้าที่ครูอย่างสมบูรณ์ มีศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นจำนวนมาก งานพิเศษที่นอกเหนือจากการสอนหนังสือก็คือการพลศึกษา ซึ่งท่านสนใจมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ครูสมิธได้สนับสนุนและส่งเสริมการเล่นฟุตบอลในโรงเรียนเป็นผู้ฝึก ลงช่วยฝึกซ้อมให้นักเรียนด้วยตนเอง ด้วยความเอาใจใส่ตลอดมา และได้รับเกียรติเป็นกรรมการตัดสินฟุตบอลระหว่างโรงเรียนต่างๆ บ่อยครั้ง นอกจากเรื่องฟุตบอลแล้ว ครูสมิธยังสนใจในกีฬาอื่นๆ ทั้งประเภทลู่และลาน ได้เขียนคำแนะนำในการฝึกซ้อมกีฑา เป็นคู่มือของนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขัน...” (ประวัติครู ของคุรุสภา/หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ/16 มกราคม พ.ศ. 2501)

 

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2443 เมื่อมีการจัดการแข่งขันฟุตบอล ระหว่าง ทีมศึกษาธิการ กับ ทีมบางกอก อันเป็นข่าวดังไปทั่วพระนคร เนื่องจากฝ่ายแรกมีคนไทยร่วมลงเล่นอยู่ด้วย 4 คน คือ นายจำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา (พลตรี เจ้าพระยาอานุภาพไตรภพ), นายสุดใจ สันธิโยธิน (คุณพระภักดีบรมนาถ), ครูบุญตั้ง และหม่อมหลวงดอย กุณชร ส่วนผู้เล่นที่เหลืออีก 7 คนเป็นชาวยุโรป แข่งขันกับนักฟุตบอลชาวอังกฤษที่พำนักในพระนคร เช่น มร.โอเวน, มร.วู๊ด, มร.ฟอลเลด, มร.เคร็ก, มร.มาร์ดิน, มร.ฟาว์ลเวอร์ ฯลฯ ผลปรากฏว่า ทีมศึกษาธิการ เสมอ ทีมบางกอก 2 – 2 โดย มร.สมิธ ขณะนั้นอายุ 27 ปี ยังเป็นครูใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบ จึงต้องลงเล่นให้ทีมศึกษาธิการและสามารถทำประตูแรกของเกมได้

 

ดังสำนวนแปลข่าวการแข่งขันฟุตบอลนัดดังกล่าว จากหนังสือพิมพ์บางกอก ไตมส์ (The Bangkok Times) ของนายสวัสดิ์ เลขนานนท์ ต่อไปนี้

 

“…ศึกษาธิการได้เริ่มเล่นลูกก่อน และมุ่งตรงไปยังโกลของบางกอก แต่ได้ถูกตีกลับ Fiddes รับลูกไว้ได้และเลี้ยงไปจนถึงเส้น “25” ของศึกษาก็ถูก Smith ปะทะไว้อยู่ ครั้นแล้วลูกออกนอกเขตสนามไป ต่อมาฝ่ายศึกษายับยั้งไว้ได้โดย Philips คนหน้าแลคนครึ่งหลังเล่นถูกขากันดี พาลูกแหวกไปจนถึงสุดสนามของอีกข้างหนึ่ง ที่นั่น Smith ยิงลูกอย่างมั่นเหมาะและผ่านเข้าไปได้ ครั้นแล้วบางกอกได้เล่นแข่งขันขึ้นต่อมา 2 – 3 นาที Martin และ Tozer รุกหนักทำให้คนหลังของศึกษาร้อนรน อย่างไรเสียก็ดี ลูกได้เลยออกไปข้างหลัง เมื่อเตะเข้าไปในสนามใหม่แล้ว คนหน้าของอีกฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองลูกบอล และทีว่าจะอันตรายมากอยู่ Martion,Tozer และ fildes ปกป้องไว้ได้ ครั้นแล้วลูกออกเส้นข้างไปก็พอดีขึ้นเวลาลง เริ่มใหม่ แล้วศึกษาเคลื่อนขึ้นไป วิ่งพาลูกไปใกล้โกล แต่ก็ขาดไตรบุรุษ Tozer และ Martion พาลูกขึ้นไปปะทะ แต่ไม่อาจอ่าน Philips ซึ่งแยกลูกและส่งไปไกล Spivey พลาดโอกาสอันดี หลังจากที่ได้ชุลมุนกันที่หน้าโกลเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย บางกอกได้ดีเสมอ ต่อมา Philips โต้การปะทะจากการเลี้ยงลูกของ Owen และเข้ายั้งไม่อยู่ Edie ได้ลูกและเมื่อเลี้ยงไปในช่วงสั้นๆแล้วส่งไปให้ Martin ซึ่งสามารถทำโกลที่สองให้แก่บางกอกได้ Johnson ได้ลูกบอลกลับมาจากฝ่ายบางกอก แต่ก็ถูก Follett ยั้งไว้อยู่ แล้วมีการฟาวล์ขึ้น Philips เตะโด่งข้ามขื่อของโกลไป Tozer และ fildes พยายามอย่างหนักแต่ไม่สบโอกาส ลูกออกสนามเล่นไป หลังจากโกลเตะแล้ว ฝ่ายศึกษาได้เร่งรีบขึ้น คนหน้าคนหนึ่งรับลูกจาก Johoson และสามารถยิงได้สำเร็จ บางกอกรุกหนัก และรุกอยู่เรื่อย จนเสียงนกหวีดเป่าบอกหมดเวลา ผล – ศึกษาธิการ 2 โกล บางกอก 2 โกล...”

 

จึงกล่าวได้ว่า มร.เออร์เนส สเปนช์ สมิธ ผู้เป็นต้นตระกูล “สุมิตร” นามสกุลพระราชทานใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือนักเตะผู้ยิงประตูแรกของการแข่งขันตามข้อบังคับของแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลในเมืองสยาม

 

เมื่อเลิกเล่นกีฬาเพราะอายุเริ่มมากขึ้นแล้ว แต่มีความชำนาญกติกาฟุตบอลและได้ลงทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินลูกหนังนัดสำคัญต่างๆ จนนักเลงฟุตบอลสมัยนั้นต้องยอมรับนับถือในความยุติธรรม

 

“...ครูสมิธ เป็นครูฝรั่งที่รู้จักภาษาไทยดีคนหนึ่ง ถึงขนาดเรียบเรียงตำราภาษาไทยไว้ใช้ในราชการ หนังสือที่ครูสมิธเรียบเรียงและได้ใช้เป็นแบบเรียนกันแพร่หลายยืนยาวมาหลายสิบปี คือ “เลขมาตราต่างๆ” และ “ เลขคิดในใจ…” (ประวัติครู ของคุรุสภา/หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ/16 มกราคม พ.ศ. 2501)

 

มร.สมิธ หรือ “ครูกีฬา”ของกรมศึกษาธิการ ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ด้วยอายุเพียง 47 ปี หากแต่คุณงามความดียังคงปรากฏชื่อจารึกในหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาและการกีฬาของไทย มากกว่าศตวรรษ.

 

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ