Web Analytics
บทความ บุรุษเหล็กลูกหนังไทย พิสิษฐ์ งามพานิช

บทความ เรื่อง “บุรุษเหล็กลูกหนังไทย” พิสิษฐ์ งามพานิช

หนึ่งบุรุษแห่งตำนานของวงการกีฬาเมืองไทย เกือบตลอดทั้งชีวิตที่ต้องเดินอยู่บนถนนคนสู้เกม แม้ว่าบั้นปลายกลับเสีย "น้ำตาลูกผู้ชาย" เพราะความทุ่มเทและตั้งใจ ที่กลายเป็นความผิดหวัง หากแต่ประวัติศาสตร์ลูกหนังสยามแล้ว ต้องถูกบันทึกชื่อในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รักษาการณ์คนแรก อันมีเกียรติประวัติเคยลงสนามรับใช้ชาติภายใต้เสื้อ "ธงไตรรงค์" ของทีมชาติไทย



พิสิษฐ์ งามพานิช เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2465 ณ บ้านย่านคลองบางกอกน้อย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีรถไฟ ในระหว่างเรียนหนังสือที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ เด็กชายพิสิษฐ์เลือกเล่นตะกร้อเป็นกีฬาชนิดแรก และเล่นได้ดี จนสามารถพาทีมครองเหรียญทองกีฬานักเรียนกรมพลศึกษาสมัยนั้น ต่อมา จึงหันมาแบ่งข้างเตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ที่สนามหลวง

ภายหลังการเกณฑ์ทหารจึงเริ่มเล่นลูกหนังแบบจริงจัง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2484 ด้วยความที่ พิสิษฐ์ งามพานิช สะสมทักษะการเตะลูกหวายมาก่อน ทำให้กลายเป็นพื้นฐานที่นำมาใช้ในสนามฟุตบอลอย่างกลมกลืน เช่น การอ่านเกม ดักลูก ส่งลูก ส่วนที่โดดเด่น คือ “ลูกโหม่ง”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จึงถูกชักชวนให้เข้าร่วมทีมกับสโมสรชายสด เพื่อลงแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานถ้วยน้อย โดยลงฟาดแข้งเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักเตะดังแห่งยุค อาทิ เฉลียว ไวทยาพร, ชาติ พหลโยธิน, สุรินทร์ วีรเทพ, แวน สุขวัฒน์, ทองย้อย โกสาพันธุ์, มรว.จงใจ ปราโมช, จำลอง วินทวามอญ, จรัส เชิงฉลาด ในปี พ.ศ. 2494 สโมสรชายสดสามารถชนะเลิศถ้วยใหญ่เป็นสมัยแรก นับแต่ก่อตั้งทีมขึ้นมา โดยมี พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนแรก และนายใช้ แม้นมาศ อดีตสภากรรมการหลายสมัยร่วมเป็นผู้บริหารทีม

นอกจากนี้ สโมสรชายสดยังเข้าชิงถ้วยใหญ่อีก 3 สมัยติดต่อกัน แต่ต้องอกหักได้เพียงตำแหน่งรองชนะเลิศ คือ พ.ศ. 2495 และ พ.ศ. 2496 สโมสรชายสดแพ้ทหารอากาศ และ พ.ศ. 2497 สโมสรชายสดแพ้จีนแคะ จึงเป็นเหตุให้ พิสิษฐ์ งามพานิช ขณะมีอายุ 32 ปี ตัดสินใจแขวนสตั๊ดในเวลาต่อมา

สำหรับเกมระดับชาติ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2489 อ.กอง วิสุทธารมย์ และนายประกอบเกื้อ บุญนาค เริ่มทำการคัดเลือกผู้เล่นของไทย เพื่อเตรียมแข่งขันกับทีมจากต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า "ทีมกรุงเทพ 11" โดยผู้เล่นตำแหน่งเซนเตอร์ฮาฟ ก็คือ พิสิษฐ์ งามพานิช และระหว่าง พ.ศ. 2495 ทีมชาติจีนชุดโอลิมปิก เดินทางเข้ามาขออุ่นเครื่องกับทีมกรุงเทพผสม แต่ต้องถูกนักเตะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเผาเครื่องพ่ายแพ้กลับไป (0 - 1) แมตช์นั้น เจ้าถิ่นทีมไทยได้ประตูจาก หลุยส์ สุรินทร์ เป็นนัดหนึ่งที่สร้างความประทับใจแก่เขาและแฟนลูกหนังกว่า 20,000 คน ณ สนามศุภชลาศัย เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้ว ทีมไทยจะปราชัยทีมจากต่างชาตินั้นเอง

ก่อนจะติดทีมชาติชุดเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นการเดินทางไปแข่งขันต่างแดนเป็นครั้งแรกในชีวิต อ.พิสิษฐ์ งามพานิช หรือ “มหาเยื้อน” ของนักข่าวกีฬา ปัจจุบันมีอายุ 90 ปี กล่าวว่า

"เมื่อผมเลิกเล่นฟุตบอล ก็ได้รับเลือกจากสโมสรสมาชิกให้เข้ามาเป็นสภากรรมการสมาคมสมัยแรก เมื่อ พ.ศ. 2503 และได้รับเลือกตลอดมา นอกจากนี้ก็ยังทำหน้าที่เป็นโค้ช ผู้จัดการทีมและแม้แต่ผู้ตัดสิน กระทั่งสมัย พันเอก อนุ รมยานนท์ ได้เสียชีวิตลง ในขณะเป็นนายกสมาคม ที่ประชุมสภากรรมการจึงมีมติแต่งตั้งให้ผมรักษาการณ์ตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลก่อนมีการเลือกตั้งในปีต่อมา”

จึงกล่าวได้ว่า พิสิษฐ์ งามพานิช คืออดีตนักเตะทีมชาติไทยคนแรกและคนเดียว ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แม้จะเป็นแค่ตำแหน่ง “รักษาการณ์” นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสมาคมมานานกว่า 87 ปี แต่ภายหลังจะเดินออกจากสมาคมฟุตบอลฯ แล้ว ก็ยังคงได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการสมาคมกีฬาอีกหลายแห่ง อาทิ สมาคมมวยสากลสมัครเล่น, คณะกรรมการโอลิมปิก ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นนายกสมาคมฮ๊อกกี้แห่งประเทศไทย

ต่อมา เมื่อสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC. ครบรอบ 25 ปี ได้ทำการประกาศเกียรติยศบุคลากรผู้ทรงคุณค่าของวงการลูกหนังทวีปเอเชีย นอกจาก พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค แล้ว อีกท่านหนึ่งที่เป็นคนไทย คือ อ.พิสิษฐ์ งามพานิช อันเป็นรางวัลที่ชาวต่างชาติมองเห็นถึงความสำคัญ อีกหนึ่งเรื่องราวบางส่วนของบุรุษแห่งตำนานลูกหนังเมืองสยาม ซึ่งกว่าค่อนชีวิตยืนอยู่บนถนนนักสู้ แม้ว่าปัจจุบันจะเกษียณตัวเองแล้ว แต่แววตากับเรื่องราวที่เล่าผ่านจากประสบการณ์ ยังบ่งบอกถึงความมี "กีฬา" อยู่ในหัวใจตลอดมา…อย่างไม่เสื่อมคลาย.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ