Web Analytics
บทความ ผู้นำกีฬาฟุตบอลสู่อิสาน พระยาสุนทรพิพิธ

บทความ เรื่อง “ผู้นำกีฬาฟุตบอลสู่อิสาน” พระยาสุนทรพิพิธ

ในประวัติศาสตร์วงการศึกษาของไทย กระทรวงธรรมการยึดหลัก 3 ประการสำคัญ คือการเรียน การเล่นกีฬา และการอบรมจริยธรรม หากนักเรียนทำผิดจะถูกลงโทษเพื่อต้องการให้เกิดความสำนึกดี จึงทำให้สยามประเทศผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่าง ๆ เพราะชาติเรามีทรัพยากรบุคคลที่เคยผ่าน "ไม้เรียว" มาแล้วแทบทั้งสิ้น และผู้บุกเบิกกีฬาลูกหนังบนแผ่นดินอีสาน ก็เช่นกัน

พระยาสุนทรพิพ...ิธ หรือเชย สุนทรพิพิธ เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2434 ณ บ้านริมคลองบางสะแกฝั่งธนบุรี เป็นบุตรนายแพ และนางหุ่น สุนทรพิพิธ เริ่มเรียนหนังสือที่วัดบางสะแกนอก (หลังตลาดพลู) กับพระหม่อม ที่ใช้การสอนตามแบบครูโบราณโดยจะทำโทษด้วย "ไม้เรียว" เพื่อต้องการให้ลูกศิษย์จดจำ หรือไม่ประพฤติผิดอีก ก่อนจะเข้าศึกษาชั้นประถม โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข (พ.ศ. 2443 - 2446 ) มีเพื่อนเรียนร่วมรุ่น อาทิ พลเอกเจ้าพระยามรามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา), พล.ต.พระยาอนิรุธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา), พันโท พระยาจงสรวิทย์ (เพี้ยน สมิตานนท์), พล.ต.ท.พระรามอินทรา (ดวง จุลยานนท์) ฯ ล ฯ และชั้นมัธยม โรงเรียนวัดนวลนรดิศ (พ.ศ. 2447 - 2448)

"...โรงเรียนมิใช่เป็นเพียงสถานศึกษาให้ความรู้วิชาเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานอบรมความประพฤติตลอดถึงนิสัยจิตใจด้วย การอบรมของโรงเรียนนับแต่การประชุมฟังคำสั่งสอนของครู การที่ครูคอยตำหนิว่ากล่าวตักเตือน ตลอดจนการลงโทษเมื่อทำผิด ฯ วิธีการดังกล่าวนี้นับว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นคุณประโยชน์แก่เด็ก ๆ ผู้เยาว์วัยเป็นอย่างมาก โดยช่วยกล่อมเกลานิสัยเด็กให้เป็นคนดีและมีจิตสำนึก ไม่เป็นบุคคลมีใจกระด้างในกาลเมื่อเติบโตขึ้นต่อไป..." (บันทึกความจำ เล่ม 1 เรื่องการศึกษา (และกีฬา) และการฝึกงานหัวเมือง/พระยาสุนทรพิพิธ/พ.ศ. 2515)

ต่อมา พระยาสุนทรพิพิธ จึงได้ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎ ราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) อยู่ที่วังปารุสวัน และพระราชวังสราญรมย์ โดยทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบัน คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งสอนวิชามหาดเล็ก วิชาเลขานุการ วิชากฎหมาย วิชาปกครอง และวิชาภาษาอังกฤษ จนจบประกาศนียบัตรวิชารัฏฐประศาสน์ โดยพระยาชลบุรานุรักษ (เจริญ จารุจินดา) ข้าหลวงเทศาภิบาล จึงได้ขอตัวไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการมณฑลอีสาน ณ อุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2453

"...ฟุตบอล - อุบล เมื่อคราวไปกรุงเทพ ฯ ข้าพเจ้านึกถึงทุ่งศรีเมืองที่อุบลกว้างใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของท้องสนามหลวง ไม่เพียงแต่จะเป็นสนามเล่นฟุตบอลได้ เขาทำสนามแข่งม้ากันด้วยซ้ำไป ข้าพเจ้าเป็นคอฟุตบอลอยู่แล้ว เวลากลับเมืองอุบลจึงได้ซื้อฟุตบอลมาด้วย คุณติดเคยเล่นฟุตบอลด้วยกันเมื่ออยู่โรงเรียนมหาดเล็ก คุณผ่องก็เคยเล่นด้วยก้นเมื่ออยู่ในวัง ดังนั้นมีพวกเรา 3 คนแล้วที่เล่นฟุตบอลได้ ส่วนข้าราชการอื่น ๆ ดูจะมีอาวุโสเกินกว่าการเล่นฟุตบอลทั้งนั้น ข้าพเจ้าจึงจับพวกเสมียนพนักงานที่เคยเป็นนักเรียนมา และพวกครูหนุ่ม ๆ มาเล่นฟุตบอลกัน เดือนสองเดือนต่อมาคนเล่นก็พอจัดแบ่งเป็นฝ่ายเป็นทีมได้ ตกเย็นเลิกงานแล้วก็มารวมกันที่สนาม พวกที่ไม่เคยเตะฟุตบอลพอเตะถูกก็ชักจะติด ๆ แล้วก็มีพวกนายทหารและตำรวจหนุ่ม ๆ ซึ่งรู้จักฟุตบอลมาแล้วแต่ครั้งอยู่โรงเรียนก็มารวมพวกกับเราด้วย การเล่นจึงเป็นไปตามแบบตามแผนและมีการแข่งขันให้เกิดความสนุกได้..." (บันทึกความจำ เล่ม 2 เมื่อเป็นเลขานุการมณฑลอิสาณ (อุบล)/พระยาสุนทรพิพิธ/พ.ศ. 2515)

นั้น คือจุดเริ่มต้นของการเล่นฟุตบอลในมณฑลอิสานสมัยแรก ภายหลังการนิยมเล่นฟุตบอลเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จึงจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนเช่นเดียวกับพระนคร ในขณะนั้น พระยาสุนทรพิพิธ ยังเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรเสือป่ากองม้าหลวงหลายครั้ง เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่าตามมณฑลต่าง ๆ อีกด้วย

กล่าวกันว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ต้องการให้กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมในหมู่ของชาวไทยทุกชนชั้น โดยเฉพาะนักเรียน เพราะนอกจากการบำรุงร่างกาย ยังสามารถสร้างความสามัคคีและความเป็นสุภาพบุรุษ คือมีจิตใจอย่างนักกีฬา เมื่อเข้ารับราชการจะทำให้มองถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของส่วนตัว ดังบทความตอนหนึ่งจากบันทึกความจำ เมื่อเป็นปลัดมณฑลอุบลราชธานี ของพระยาสุนทรพิพิธ ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "วัตถุ" และ "จิตใจ" โดยเป็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนี้

"...หวนนึกถึงวิชาวัฒนธรรมที่สอนว่า การบำรุงประเทศชาติให้บังเกิดความเจริญนั้น จะต้องกระทำทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจบุคคล เมื่อความเจริญบังเกิดแก่ทั้งสองด้านหรือสองทางสมดุลย์กันแล้ว ความเจริญนั้นจึงจะให้ผลเป็นคุณ แต่ถ้าเจริญทางหนึ่งทางใดทางเดียว เกิดความไม่สมดุลย์กันแล้ว ความเจริญนั้นกลับจะให้ผลเป็นโทษเป็นอันตราย ข้อนี้ย่อมเล็งเห็นความจริงได้แจ้งชัด เพราะโลกเรานี้มีคนเป็นสำคัญกว่าอื่นใดทั้งสิ้น และคนนั้นก็มีจิตใจเป็นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า "มนุษย์" คือมีใจสูง ถ้ามนุษย์ใดมีใจต่ำ ก็จะเป็นดังที่ว่า "คอหยัก ๆ สักแต่ว่าคน" ฉะนั้น การบำรุงทางด้านจิตใจจึงเป็นความจำเป็นที่จะละเลยเสียมิได้..."

อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข และโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2516 นอกจากคุณาประโยชน์ที่ทำให้กับแผ่นดินจนได้รับการกล่าวยกย่องแล้ว สำหรับวงการ "หมากเตะ" ของสยาม จำต้องจารึกชื่อท่านในฐานะผู้บุกเบิกกีฬาฟุตบอลของมณฑลอีสาน ตลอดไป.

จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้เขียน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ